เงินบาทเปิด 35.06/07 กลับมาแข็งค่าจากแรงขายทำกำไร แต่แนวโน้มยังอ่อนค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.06/07 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 35.25 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก หลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ไม่ดี
"ดอลลาร์อ่อนค่าย่อตัวลงมาเมื่อเทียบกับเยนและยูโร หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาไม่ค่อยดี" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ตลาดจับตาดูวันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประกาศอัตราเงินเฟ้อประจำเดือน ก.ค.58 และช่วงกลางสัปดาห์จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ขณะที่จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐ

นักบริหารเงิน ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้จะอยู่ในกรอบระหว่าง 35.00-35.10 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าในระยะยาว แต่ช่วงสั้นๆ ที่แข็งค่ากลับมาตามแรงเทขายทำกำไร" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 124.00 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 124.20 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0972 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0939 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 35.1760 บาท/ดอลลาร์
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศในเดือน มิ.ย.นี้ ว่า เงินทุนยังไหลเข้าสุทธิ 1,655 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.18 บาท/เหรียญสหรัฐ) เป็นการไหลเข้าต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ไหลเข้าสุทธิ 1,212 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท
  • ธปท.เผยไตรมาส 3 สถาบันการเงินส่วนใหญ่ ยังคงเข้มงวดในการปล่อยกู้ต่อไป เพื่อรักษาคุณภาพสินเชื่อ แม้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาความต้องการสินเชื่อกลุ่มนี้น้อยกว่าคาดการณ์ไว้ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่เน้นออกหุ้นกู้ ทำให้แนวโน้มปล่อยสินเชื่อธุรกิจน่าจะทรงตัว ส่วนภาคครัวเรือนยังระมัดระวังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆ
  • ธปท.เผยภาคธุรกิจส่วนใหญ่คาดการบริโภคกลับมาฟื้นตัวลากยาวไปถึงปี 59 ลุ้นนโยบายรัฐ การท่องเที่ยวจะดีขึ้นหลังเห็นสัญญาณจองห้องพักล่วงหน้าไปถึงไตรมาส 4 ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่หันไปกลุ่ม CLMV และเริ่มเห็นสัญญาณการเก็งกำไรในคอนโดฯ บางจุด ด้านต้นทุนแรงงานภาคบริการมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่บางกลุ่มธุรกิจจะมีการลดการใช้แรงงานชั่วคราว
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาด กนง.จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 5 สิงหาคม รอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย แต่ยังมีโอกาสที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในปี 2558 เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงสูง
  • นักเศรษฐศาสตร์ เสียงส่วนใหญ่ คาด กนง. ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หลังเงินบาทอ่อนค่า เอื้อนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น รอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ก่อนพิจารณาอีกครั้ง บางส่วนแนะจับตาแรงกดดันเฟด อาจกดดัน กนง. สร้างเซอร์ไพร์สลดดอกเบี้ยรอบนี้ จากปัจจัยเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
  • กระทรวงการคลัง เร่งเบิกจ่ายลงทุนซ่อมสร้างถนน-โครงการน้ำฯ เติมเงินเข้าสู่ระบบ ตลอดจนเร่ง “เมกะโปรเจกท์” หลังตัวเลขส่งออก ตัวกระตุ้นหลักลดลงต่อเนื่อง
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ หลังจากสหรัฐรายงานว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่สูงเกินไป นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทพลังงานรายใหญ่อย่างเอ็กซอน โมบิล และเชฟรอน โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ร่วงลง 1.4 ดอลลาร์ ปิดที่ 47.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์(BRENT) ส่งมอบเดือน ก.ย.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 1.1 ดอลลาร์ ปิดที่ 52.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า ต้นทุนการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานสหรัฐ และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะชะลอการตัดสินใจเรื่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 6.4 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ 1,095.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 4.9 เซนต์ ปิดที่ 14.765 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน ต.ค.ลดลง 5 ดอลลาร์ ปิดที่ 985 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน ก.ย.ร่วงลง 9.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 610.85 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ หลังจากสหรัฐเปิดเผยว่า ต้นทุนการจ้างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการตัดสินใจเรื่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 123.93 เยน จากวันพฤหัสบดีที่ระดับ 124.24 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9663 ฟรังค์ จากระดับ 0.9701 ฟรังค์, ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0981 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.0921 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.5618 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5600 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7304 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7286 ดอลลาร์สหรัฐ

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ