(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ค.58 หดตัว -1.05% จากตลาดคาด -1.0%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ศรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 106.57 ลดลง 1.05% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.57 ขณะที่ตลาดคาดติดลบ 1.0% โดยยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 58 ลดลง 0.07% ส่งผลให้ CPI ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.58) ลดลง 0.85%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 105.93 เพิ่มขึ้น 0.94% จากเดือน ก.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.10% จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 7 เดือนของปี 58 โตขึ้น 1.18%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ค.58 อยู่ที่ 114.41 เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือน ก.ค.57 และเพิ่มขึ้น 0.41% จากเดือน มิ.ย.58 ตามการสูงขึ้นของราคาผักสด ที่สำคัญ ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักชีและพริกสด จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้ง ทำให้ผักเสียหาย รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ปลาน้ำทะเลสด กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา อาหารโทรสั่ง (delivery) และข้าวราดแกง ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเหนียว มะนาว ต้นหอม เงาะ และเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา ซีอิ๊ว และ เครื่องปรุงรส เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.34 หดตัว 2.22% จากเดือน ก.ค.57 และลดลง 0.34% จากเดือน มิ.ย.58 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E 20 และ E 85 รวมทั้ง สินค้าค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่ แชมพูสระผม ครีมนวดผม ผ้าอนามัย และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก ก้อนดับกลิ่น น้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยารีดผ้า เป็นต้น

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ 1.05% (YoY) เป็นการลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว และราคาอาหารสดเริ่มขยับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่มีปริมาณผลผลิตลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(ไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวสูงขึ้น 0.94% ในเดือนก.ค.58

นายสมเกียรติ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบของไทยนั้น เกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ตามต้นทุนที่ปรับลดลง ไม่ได้เกิดจากเงินฝืดเพราะคนไม่บริโภคสินค้า ขณะที่เงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อกำลังซื้อ เพราะราคาสินค้าบางตัวปรับลดลง แต่การที่คนอาจจะไม่จับจ่ายใช้สอย ไม่ได้เป็นเพราะของแพงขึ้น แต่เลือกจะจะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น หรือเก็บเงินไว้เพื่ออนาคตมากกว่า

นายสมเกียรติ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58 หรือราวเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ หลังจากไตรมาส 3/58 คาดว่าจะติดลบที่ราว 0.3-0.5% เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาปรับเป้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.6-1.3% จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ที่ยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งต้องติดตามว่าจะอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดจะขอเวลาพิจารณาภายใน 1 เดือนนี้

"คิดว่าอีกสักเดือนคงต้องประเมินใหม่ คิดว่าแนวคงไม่เป็นไปตามนั้นแล้ว...ตอนนี้ตัวเลขยังยืนตัวเดิม"นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ