กรมทรัพย์สินฯ จัดทำ 10 คำถาม-คำตอบไขข้อข้องใจ กม.ลิขสิทธิ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2015 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำคำถาม-คำตอบ 10 ข้อ เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ที่ได้แก้ไขใหม่ และมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ส.ค.นี้ หลังจากที่มีการแชร์ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสนในโลกโซเชียลว่าสามารถทำอะไรได้ หรือไม่ได้ เพราะจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

คำถาม-คำตอบ ทั้ง 10 ข้อมีรายละเอียด ดังนี้

1.ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต?

ตอบ ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข่าวประจำวันทั่วไปที่เป็นข้อเท็จจริง และในรายการเล่าข่าว หรือคุยข่าวนำมารายงานเพียงว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร โดยไม่ได้นำเอาเนื้อหาทั้งข่าวมาอ่านให้ฟังนั้น ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ จึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

2.สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้หรือไม่?

ตอบ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำ ที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้ว จึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

3.การก็อปปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟสบุ๊คของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่?

ตอบ บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะก็อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4.การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์?

ตอบ การนำงานมาใช้และเผยแพร่ ต้องอ้างอิงที่มา หรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5.การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวีดิโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิทัลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด?

ตอบ การแฮ็ก (การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี) เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้ว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจ หรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี มีโทษปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากลบลายน้ำดิจิทัลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน โดยมีโทษปรับ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท ​เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.การก็อปปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต?

ตอบ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความไปใช้ในเชิงพาณิชย์ กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาต ต้องใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางาน ซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7.การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทูปมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่?

ตอบ ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อก และเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการแชร์ลิงค์ เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8.หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่?

ตอบ การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จะขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถก็อปปี้งานเพื่อขายได้ เพราะสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับการซื้อมาโดยดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9.ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISP) เช่น YouTube, Google, True, DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัพโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์?

ตอบ ISPs ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10.จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต?

ตอบ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้ละเมิดหยุดละเมิด หรืออาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ หรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรืออาจขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือศาลไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท

ทั้งนี้ กรมฯได้นำ 10 คำถาม-คำตอบไปเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมฯที่ www.dipthaoland.go.th นอกจากนี้ ยังได้จัดพิมพ์ 8 ประเด็นที่แก้ไขในกฎหมายใหม่ เป็นคู่มือเพื่อแจกจ่ายประชาชนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ