อุตสาหกรรมเหล็กร้องรัฐบาลเร่งออกเซอร์ชาร์จ-เอดีบรรเทาปัญหาทุ่มตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2015 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า ตามที่ 8 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ได้แก่ 1.สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี 2.สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน 3.สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 4.สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน 5.สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 6.สมาคมเหล็กแผ่นเคลือบไทย 7.สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 8.สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย 122 บริษัทซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเหล็กเกือบทั้งหมดของประเทศไทย ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาเหล็กนำเข้าทุ่มตลาดก่อนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศล่มสลาย

เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยขาดการส่งเสริมและปกป้องจากภาครัฐ จนประเทศไทยต้องนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็ก (ปริมาณนำเข้า – ปริมาณส่งออก) สูงถึง 14.4 ล้านตันต่อปี มากสุดเป็นลำดับที่สองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการนำเข้าเหล็กสุทธิ 17.8 ล้านตันต่อปี ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของไทยมีขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP)เพียง 1 ใน 49 ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ทำให้เงินตราของประเทศไหลออกเนื่องจากการนำเข้าเหล็กเป็นมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาทต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับการทุ่มตลาดและการค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศอย่างรุนแรง รวมถึงมีการหลีกเลี่ยงอากรนำเข้า อากรตอบโต้การทุ่มตลาด และอากรปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยกลวิธีต่างๆ

นายนาวา กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กต่างๆ กำลังเฝ้ารอการขับเคลื่อนของหน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษ(Surcharge) การนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็ก หลังจากยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมาการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 โดยคณะกรรมการบีโอไอมีมติอนุมัติในหลักการเมื่อเดือนพฤษภาคมให้ใช้ Surcharge กับสินค้าเหล็กนำเข้าได้ หรือการเร่งเปิดไต่สวนเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด และปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังค้างอยู่ที่กรมการค้าต่างประเทศ หลายรายการ ได้แก่ 1. สินค้าท่อเหล็ก 2. เหล็กแผ่นรีดร้อน 3. เหล็กแผ่นเคลือบโลหะเจืออะลูมิเนียมสังกะสี 4. เหล็กแผ่นเคลือบสี 5. เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน เป็นต้น ตลอดจนการออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถบังคับใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) ได้จริง ทั้งๆ ที่มี พ.ร.บ.ออกมาแล้วกว่า 16 ปี แต่ไม่เคยใช้มาตรการนี้เลย

ด้านนายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้า สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน(AISC) เปิดเผยว่า ประเทศไทยคือเป้าหมายใหญ่สุดในอาเซียนที่กำลังถูกทุ่มตลาดสินค้าเหล็กอย่างรุนแรง โดยอาเซียนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กมากกว่า 46 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้เหล็กในอาเซียน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเหล็กนำเข้ามากสุดในอาเซียน

ทั้งนี้ สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน ยืนยันว่ายินดีเปิดรับต่อการค้าเสรี แต่ต้องเป็นการค้าที่เป็นธรรมด้วย จึงเรียกร้องให้ภาครัฐของทุกประเทศในอาเซียนต้องไม่ลังเลที่จะตอบโต้การค้าสินค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรม ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ได้ผลอย่างจริงจัง ดังเช่น ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่ง การขึ้นอัตราภาษีหรืออากรนำเข้าสินค้าเหล็ก ดังเช่นที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย บราซิล เกาหลีใต้ ได้ดำเนินการในระยะหลังนี้

ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างก็พากันตอบโต้สินค้าเหล็กนำเข้า ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งอยู่ในกรอบขององค์กรการค้าโลก (WTO) และมาตรการนอกเหนือจากที่ WTO กำหนด เช่น ตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention) กำหนดใบอนุญาตนำเข้า (Import License) มาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเหล็ก เป็นต้น เนื่องจากพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเท่านั้น แต่มีความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ใช้มาตรการดังกล่าวผู้นำเข้าและผู้ใช้ย่อมสูญเสียผลประโยชน์ แต่ภาครัฐต้องใช้มาตรการเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้เหล็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมเป็นเกณฑ์ เช่น สามารถบรรเทาความเสียหายต่อผู้ผลิตเหล็กในประเทศได้จริง โดยผู้นำเข้าและผู้ใช้เหล็กมีผลกำไรทางธุรกิจที่แคบลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ