(เพิ่มเติม) กฟผ.เผยมีเอกชนยื่นประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 2 ราย,กลุ่ม ITD ร่วมชิง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 5, 2015 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจ.กระบี่ ยื่นซองประกวดาราคาและเทคนิคในวันนี้ โดยพบว่ามีเอกชน 2 กลุ่มที่มายื่นซองประมูลดังกล่าว ได้แก่ กิจการค้าร่วม บริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม, บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น (The Consortium consisting of ALSTOM Power Systems,ALSTOM (Thailand)Ltd. and Marubeni Corporation) และกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นท์ (ITD) (Consortium of Power Construction Corporation of China and Italian-Thai Development Public Company Limited)

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. คาดว่า กฟผ.จะใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านทางเทคนิคก่อน หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องราคา โดยราคากลางที่กำหนดไว้อยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งกฟผ.คาดว่าขั้นตอนคัดเลือกผู้รับเหมาจะใช้เวลาราว 6 เดือน ขณะที่การก่อสร้างจะดำเนินการได้เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้รับการอนุมัติ

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีขนาด 800 เมกะวัตต์ ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 58-79 (PDP2015) ซึ่งมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณา EHIA จากหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่โครงการยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่

"กฟผ. ขอยืนยันว่า การยื่นซองประกวดราคานี้ยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยกฟผ. ได้ระบุในเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์การออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent - LOI) ไว้อย่างชัดเจนว่า จะออกเอกสารสนองรับราคา เมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด รวมถึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากรัฐบาลครบถ้วนแล้วเท่านั้น"นายรัตนชัย กล่าว

นายรัตนชัย กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนธ.ค.62 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อให้โรงไฟฟ้ากระบี่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน กฟผ. จึงต้องเริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาเพื่อออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณา EHIA ซึ่งกระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ กฟผ. จัดทำเอกสารประกวดราคา , ผู้รับเหมาซื้อซองประกวดราคาและจัดทำข้อเสนอ และกฟผ. พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 1.5-2 ปี

จากนั้นจึงเป็นช่วงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัดนี้ กฟผ. จึงดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณา และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการ กฟผ. จะยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ