กรมชลประทาน จัดงบฯกว่า 957ลบ.จ้างงานเกษตรกรเลื่อนทำนาปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศโครงการตามมาตรการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการงดการปลูกพืชฤดูแล้ง (ปี2557/2558) และการเลื่อนการทำนาปี (ปี2558/2559) โดยจ้างแรงงานภาคการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรมาดำเนินการก่อสร้างงานชลประทาน กำจัดวัชพืช และขุดลอกคู คลอง

“การจ้างแรงงานอันเนื่องมาจากการงดปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างไปแล้ว จำนวน 89,250 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,221.6557 ล้านบาท และมีแผนการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอันเนื่องมาจากการเลื่อนทำนาปี (ปี2558/2559) จำนวน 36,673 คน ค่าจ้างงานประมาณ 957.4133 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ในระหว่างที่รอฝนตกเพื่อทำนาปีต่อไป" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ด้าน นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่มาสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานให้กับกรมชลประทาน เพื่อทำความสะอาดและลอกตะกอนคูคลอง รวมทั้งงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชลประทานแล้วมากกว่าร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่วางไว้คือ 3,000 คน โดยใช้งบในการจ้างแรงงานประมาณ 25 ล้านบาท

สำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญว่าจ้างเกษตรกร หรือลูก หลาน เกษตรกรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่มีจำนวนเกษตรกรที่มาสมัครไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องว่างจ้างแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริม ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งรอที่จะทำนาปี เพราะขณะนี้ฝนเริ่มตกบ้างแล้ว คาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2558 นี้ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเริ่มทำนาปีได้ หลังจากที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้เลื่อนการทำนาปีออกไปจนกว่าฝนจะตกตามปกติ

ส่วนการจัดสรรน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วประมาณ 4.3 ล้านไร่นั้น ขณะนี้ได้ส่งน้ำไปช่วยเหลือนาข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้องประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะเพียงพอ เนื่องจากเริ่มมีฝนตกในพื้นที่บ้างแล้ว นาข้าวในส่วนนี้จะไม่ยืนต้นตายและจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามรอบเวรการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด และใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ