(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ชงเติมเงินรากหญ้าผ่านกองทุนหมู่บ้าน-เล็งเพิ่มแรงจูงใจลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2015 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ชุดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า ในส่วนของการเติมเงินให้กับเศรษฐกิจในระดับรากหญ้านั้นจะดำเนินการผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน โดยในส่วนของรายละเอียด เช่น อัตราดอกเบี้ย การค้ำประกันโดยรัฐบาล และรายละเอียดอื่นๆ ที่ชัดเจนนั้น จะต้องรอให้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ
"อาจจะเป็นคนละโปรแกรมกับโครงการกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม 40,000 ล้านบาท ส่วนจะใช้เงินเท่าไร จะปลอดดอกเบี้ยหรือไม่ หรือการให้รัฐบาลค้ำประกันหรือไม่นั้น รายละเอียดเหล่านี้ขอให้ผ่าน ครม.ก่อน...แนวคิดนี้ทีมเศรษฐกิจเชื่อว่าจะเป็นการเติมเงินให้แก่รากหญ้าได้อย่างทั่วถึง เพราะกองทุนหมู่บ้านไม่ได้ดูแลแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางในการกระจายไปถึงรากหญ้าทั้งต่างจังหวัดและที่อยู่ในเมืองได้อย่างครบทุกหมู่บ้าน"รมว.คลัง กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวย้ำว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้น เป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลานาน และเม็ดเงินส่วนใหญ่จะลงไปถึงเพียงแค่ระดับผู้รับเหมารายใหญ่เท่านั้น ดังนั้น ในช่องว่างที่ต้องใช้ระยะเวลานานระหว่างที่โครงการขนาดใหญ่ยังไม่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลเชื่อว่าการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วสุดในระยะเวลาสั้นๆ คือการดำเนินโครงการขนาดเล็ก ซึ่งจะมีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่รวดเร็วกว่าและสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้เร็วกว่า โดยรัฐบาลจะเร่งผลักดันในส่วนนี้เพื่อให้เม็ดเงินเข้าไปเติมในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น

"นี่คือสิ่งที่เราจะทำในเบื้องต้นก่อน เราจะไปเติมช่องว่างในส่วนที่ขาด เพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจลงลึกไปกว่านี้ เพราะหากเศรษฐกิจลงลึก resource ที่จะใช้ดึงขึ้นก็ต้องมากกว่านี้" รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะพยายามสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยการหา incentive เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าขณะนี้ทั่วโลกมีแหล่งเงินมากเพียงพอ เพียงแต่จะเลือกเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีแรงจูงใจหรือมีผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่า ดังนั้น ไทยจะต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกว่าเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน

"ทั่วโลกมีแหล่งเงินเพียงพอ แต่เขาเลือกที่จะลงทุน เพราะฉะนั้นไทยจะต้องทำตัวให้รู้สึกว่าเราเป็นแหล่งที่ต่างชาติอยากจะเข้ามาลงทุน...ดังนั้นโจทย์สำคัญที่ สศค.ต้องคิดในตอนนี้ คืออะไรที่จะเป็น S Curve ใหม่ของไทย ที่จะทำให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดของต่างชาติ ซึ่งจะกระตุ้นให้เราสามารถก้าวกระโดดไปอีกขั้น" รมว.คลังกล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะผลักดันให้ผู้ประกอบการของไทยใช้บัญชีเดียวเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อให้ประเทศมีระบบการชำระภาษีที่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงจะผลักดันเรื่องการใช้ระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนระบบเงินสดให้มากขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทางบัญชีและการเงินของผู้ประกอบการที่ถูกต้อง ทำให้เห็นถึงความสามารถในการชำระภาษีที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ซึ่งนำมาสู่ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ที่มากขึ้นอย่างถูกต้อง ทำให้เราได้เห็นถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนของประเทศ

"เมื่อเราเห็นความสามารถในการเก็บรายได้ที่แท้จริง เราก็จะรู้ว่า GDP ที่แท้จริงของประเทศเป็นอย่างไร เราก็จะได้ไม่ต้องไปเพิ่มภาษี เพราะมีแหล่งเงินเหล่านี้เข้ามาช่วย...นโยบายที่จะเดินต่อนี้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการอะไร เราจะดูให้ครบถ้วน เครื่องมืออะไรที่ช่วยได้ เราจะดูให้ครบ ทั้งหมดนี้จะเน้นความรวดเร็ว สิ่งที่เราทำจะเป็นพื้นฐานให้เดินต่อไปได้อย่างมั่นคง" รมว.คลังกล่าว

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวานนี้ว่า คงไม่ทำให้เกิดปัญหาสงครามค่าเงินในภูมิภาค การที่จีนลดอัตราดอกเบี้ยลงก็เป็นการทำเพื่อดูแลเศรษฐกิจในประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะให้มีการขยายตัวได้ 7% ทั้งนี้มองว่าจีนยังมีเครื่องมือที่จะนำมาใช้อีกมากในการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัว

"เป้าหมายของจีนคือให้เศรษฐกิจโต 7% พอเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวก็เลยต้องทำ(ลดดอกเบี้ย) จีนยังมีเครื่องมือ ยังมีกระสุนอีกเยอะมากที่จะใช้ประคองเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่เขาบริหารจัดการ ไม่ได้ปล่อยไปตามตลาดอย่างเดียว...currency เป็นเรื่องของตลาด มีบางประเทศที่ใช้มาตรการบางอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของเขาเอง แต่มันไม่น่ากลายเป็น currency war โอกาสน้อย" รมว.คลัง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ