สหรัฐฯเปิดทบทวนโครงการ GSP ปี 58 สินค้าไทย 9 รายการเข้าข่ายขอคืนสิทธิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2015 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศเปิดทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2558 (2015 Annual Generalized System of Preferences Product and Country Practices Review) ใน Federal Register ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2558 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชน (ผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าสหรัฐฯ) และภาครัฐบาล สามารถยื่นคำร้อง(Petition) ในการทบทวนดังกล่าวได้โดยจะต้องจัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษส่งผ่าน www.regulation.gov. ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการยื่นคำร้อง (petition) ดังนี้

1. กรณีต้องการขอเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ ภายใต้โครงการ GSP เช่น เพิ่ม/เพิกถอนรายการ ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องดังกล่าวได้ นอกจากนี้ การทบทวนโครงการปี 2558 สหรัฐฯ ได้เพิ่มรายการสินค้าประเภทกระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง (Travel Goods) ทำจากหนัง (พิกัดศุลกากร 4202) จำนวน 27 รายการ จากทุกประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งการเพิ่มรายการสินค้าดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสหรัฐฯ จากอัตราปกติที่อยู่ระหว่างร้อยละ 4.5 - 20 โดยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องดังกล่าวภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 ก่อนเวลา 17.00 น. (เวลาในสหรัฐฯ)

2. กรณีขอคืนสิทธิ GSP ให้สินค้าไทย ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1) คาดว่าจะมีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินเพดาน Competitive Need Limitations(CNL) ที่สหรัฐฯ กำหนด (ปี 2558 เท่ากับ 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) 2) การขอคืนสิทธิ GSP สินค้าที่ถูกระงับสิทธิไปแล้ว แต่ในปี 2558 มีมูลค่านำเข้าต่ำกว่าเพดาน CNL ที่สหรัฐฯ กำหนด โดยกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องทั้งสองกรณีภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ก่อนเวลา 17.00 น. (เวลาในสหรัฐฯ)

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่อยู่ในข่ายการขอคืนสิทธิ GSP มีจำนวน 9 รายการ ดังนี้ 1.ธัญพืช 2.ปลาแมกเคอเรลปรุงแต่ง 3.กุ้งปรุงแต่งผสมเนื้อปลาไม่บรรจุกระป๋อง 4.กุ้งปรุงแต่งผสมเนื้อปลาบรรจุกระป๋อง 5.เม็ดพลาสติก โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต 6.แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์และแถบทำด้วยโพลิเมทิล เมทาคริเลท 7.บรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติก 8.กระเบื้องปูพื้นและผนัง และ 9.ของใช้บนโต๊ะอาหารทำจากอะลูมิเนียม

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ติดตามภาวะการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิพิเศษฯ GSP สหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) ปรากฏว่าไม่พบสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เกินเพดาน CNL ที่สหรัฐฯ กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม หากอัตราการส่งออกมีการขยายตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังอาจทำให้มูลค่าส่งออกเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด สินค้าดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ GSP จะต้องเสียภาษีนำเข้าปกติในปีถัดไป จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ส่งสินค้าดังกล่าวติดตามสถานการณ์การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอเพิ่มรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ยื่นคำร้องตามระยะเวลาที่สำนักงานฯ USTR ประกาศไว้ข้างต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ