(เพิ่มเติม1) กกพ.เคาะค่า Ft งวดใหม่ ก.ย.-ธ.ค.58 ลดลงแค่ 3.23 สต./หน่วย,ค่าไฟฟ้าฐานใหม่เริ่มพ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 26, 2015 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ.วันนี้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.58 ลง 3.23 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 46.38 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.73 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

จากมติ กกพ. ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.-1 ก.ย.58 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่า Ft สำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

ส่วนแนวโน้มค่าเอฟทีงวดต่อไป (เดือนม.ค.-เม.ย.59) นั้น ยังไม่สามารถระบุได้แม้ว่าแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ยังมีปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใด

"แนวโน้มงวดต่อไป ดูราคาก๊าซฯและน้ำมันเป็นขาลง แต่อัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้เราใช้ที่ระดับ 34 บาทเศษ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะอ่อนค่าไปขนาดไหนอาจจะอ่อนไปถึง 35-36 บาทก็จะกระทบต่อค่าเอฟทีแม้ราคาก๊าซฯและน้ำมันจะเป็นขาลงก็ตาม นอกจากนี้ในงวดหน้ายังเป็นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย ก็จะทำให้มีการใช้ก๊าซฯเยอะก็ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไม่แน่ใจว่างวดหน้าจะเป็นขาลงหรือไม่ อาจจะเป็นขาขึ้นก็ได้"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับลดค่า Ft ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.58 นี้ลดลงน้อยกว่าที่เคยประมาณการไว้มาจากหลายปัจจัย ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากที่ประมาณการไว้ในช่วง พ.ค.-ส.ค.58 ถึง 1.4 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34.45 บาท/ดอลลาร์ (เฉลี่ยเดือน ก.ค.58) ทำให้ราคาเชื้อเพลิงนำเข้าสูงขึ้น

ประกอบกับ ในปีนี้ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ ส่งผลทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่า Ft ในงวดนี้ลดลงเพียง 3.23 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนก.ย.- ธ.ค.58 ดังนี้ 1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะเท่ากับ 59,046 ล้านหน่วย ต่ำกว่าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.58 คิดเป็น 8.39% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว 2. อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.45 บาท/ดอลลาร์ในการประมาณการ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค.58 ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.05 บาท/ดอลลาร์

3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 58 เมื่อเทียบกับงวดที่ผ่านมา(พ.ค. – ส.ค. 58) ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 63.86% รองลงมาเป็นซื้อไฟฟ้าจากลาว 10.36% ถ่านหินนำเข้า 9.65% ถ่านหินลิกไนต์ 9.15% ในขณะที่พลังน้ำลดลงเหลือ 1.98%

4. ในส่วนของราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ที่ 245 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 19 บาทต่อล้านบีทียู น้ำมันเตาจะอยู่ที่ 19.14 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 3.94 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 20.48 บาทต่อลิตร ลดลง 5.38 บาทต่อลิตร และถ่านหินนำเข้า จะอยู่ที่ 3,386.58 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.38 บาทต่อตัน

5. ในเดือนพ.ค.-ส.ค.58 กกพ.ได้เห็นชอบค่า Ft เรียกเก็บจำนวน 49.61 สตางค์/หน่วย (-9.35 สตางค์/หน่วย) ในขณะที่คำนวณค่า Ft ได้ 53.27 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อเป็นการบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟฟ้าตามแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง จึงพิจารณานำแนวโน้มค่าเอฟทีที่คาดว่าจะลดลงในเดือนก.ย.-ธ.ค.58 บางส่วนมาปรับลดค่า Ft ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ส.ค.58 ไปแล้วจำนวน 3.66 สตางค์ต่อหน่วย

นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่นั้น มีความล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย จากเดิมที่จะประกาศใช้ได้ในเดือนก.ย.นี้ ก็คาดว่าจะประกาศได้ในราวกลางเดือนต.ค.และจะเริ่มใช้ตั้งแต่รอบบิลในเดือนพ.ย.-ธ.ค.58 โดยเบื้องต้นคาดว่าค่าไฟฟ้าฐานมีแนวโน้มจะไม่สูงขั้นจากเดิม แม้ว่าการลงทุนของการไฟฟ้าในช่วงปี 59-60 จะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก็จะมีการดูแลประสิทธิภาพของการใช้ไฟฟ้าให้เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลตอบแทนของการไฟฟ้าจะน้อยกว่าเดิมเพราะยังคงมีสถานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจ จากการทำอัตราค่าไฟฟ้าฐานในรอบที่ผ่านมาผลตอบแทนของการไฟฟ้าจะสูงเพราะช่วงก่อนหน้านั้นจะมีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เป็นเอกชน

"คิดว่าค่าไฟฟ้าฐานคงไม่สูงจากเดิม แต่ถ้าลดก็คงไม่เยอะ เพราะการลงทุนของการไฟฟ้าสูงมากในช่วงปี 59-60 กระโดดสูงถึง 20-30% เราก็พยายามลดตัดทอนดูเรื่องประสิทธิภาพให้เข้มกว่าเดิม ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่อัตรา 3.27 บาท/หน่วย ซึ่งการคำนวณค่าไฟฟ้าฐานใหม่จะมีการบวกค่าเอฟทีเข้าไปด้วย และจะทำให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวเริ่มต้นที่ศูนย์ อย่างไรก็ตามสำหรับการประกาศค่าไฟฟ้าฐานใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือนพ.ย.-ธ.ค.58 นี้ซึ่งเป็นระหว่างงวดค่าเอฟทีรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.58 ทำให้ค่าไฟฟ้าใหม่ จะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานใหม่ บวกด้วยค่าเอฟทีที่ติดลบ 3.23 สตางค์/หน่วยในงวดนี้ ขณะที่ค่าไฟฟ้าฐานใหม่จะใช้จนถึงปี 60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ