เงินบาทปิด 35.84/86 แกว่งแคบ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯคืนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2015 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.84/86 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 35.81 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ โดยระหว่างวันเงินบาททำ low สุดที่ระดับ 35.81 บาท/ดอลลาร์ และ high สุดที่ระดับ 35.60 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีผลต่อตลาดมากนัก นักลงทุนรอดูคืนนี้ในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์, ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการ เดือนส.ค.

"วันนี้เงินบาทแกว่งในกรอบแคบๆ ช่วงเช้ามี flow ซื้อดอลลาร์เข้ามา แต่หลังจากนั้นช่วงบ่ายก็ไม่ค่อยมีปัจจัยอื่น" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทพรุ่งนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35.70 - 35.85 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.35/39 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.49 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1224/1227 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1216 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,383.48 เพิ่มขึ้น 11.03 จุด (+0.80%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 41,351 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,659.38 ลบ.(SET+MAI)
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เตรียมเสนอมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในสัปดาห์หน้า
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาประมาณ 2-3 กลุ่ม ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.อยู่ที่ 72.3 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และถือว่าต่ำสุดในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่มิ.ย.57 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลต่อเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผลกระทบในจิตวิทยาเชิงลบต่อการท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ยังกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ แต่ทั้งนี้ยังมีสัญญาณที่ดีจากที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นกับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ จึงมีแนวโน้มว่าการบริโภคจะเริ่มฟื้นตัวในกลางไตรมาส 4 ของปีนี้

อย่างไรก็ดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาทที่รัฐบาลออกมานั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยหนุน GDP ปีนี้ได้ 0.7-1% และหากไม่มีมาตรการนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ไม่ถึง 2.5%

  • นักลงทุนหันไปจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงถ้อยแถลงของนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ในการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม โดยรอดูว่าจะมีการส่งสัญญาณใดถึงการขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ซึ่งทาง ECB ดำเนินการอยู่หรือไม่ ท่ามกลางราคาสินค้าโภคภัณฑ์และตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแรง
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยูโรโซนในเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้นแตะ 54.4 จากระดับ 54.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงมีความยืดหยุ่น ท่ามกลางปัจจัยลบที่มีอยู่ต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี
  • นายทาคาฮิเดะ คิอุจิ สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประเมินว่าเป็นเรื่องยากที่ญี่ปุ่นจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ