ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองธุรกิจบริการ-อาหาร-โครงสร้างพื้นฐาน มีแนวโน้มทำ M&A เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2015 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกรรมการควบรวมและซื้อกิจการในต่างประเทศ (Outbound Merger and Acquisition: Outbound) หรือ M&A ของธุรกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการในภูมิภาคอาเซียน เริ่มกลับมามีพลวัตที่มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลง ประกอบกับการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวแล้วนั้น การขยายโอกาสการดำเนินธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนยังคงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกรรม M&A ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคตจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการขยายตลาดในภูมิภาค และมีเงินสดส่วนเกินสะสมสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ธุรกิจโลจิสติกส์ (บริการโกดังและคลังสินค้า, บริการยกขนส่งสินค้าที่ขนส่งทางทะเล หรือบริการด้านบรรจุภัณฑ์) ธุรกิจบริการสุขภาพและโรงพยาบาล ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว,

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป อาทิ ธุรกิจอาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ธุรกิจแปรรูปยางพารา ธุรกิจอาหารทะเล ธุรกิจอาหารฮาลาล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

กลยุทธ์การเข้าทำ M&A ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นถึงความน่าสนใจของการเข้าซื้อกิจการต่อจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital: VC) เนื่องจาก VC ในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีจำนวนและมูลค่ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการรายงานของ Preqin ล่าสุดพบว่าจำนวนการทำธุรกรรมภายใต้การบริหารของ VC ในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากราว 27 ดีล รวมมูลค่าราว 100 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 มาเป็นประมาณ 150 ดีล รวมมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2557 จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเฟ้นหาและเข้าไปซื้อกิจการบริษัทที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจในประเทศที่เข้าไปลงทุนในช่วงที่บริษัท VC เตรียมถอนการลงทุนในบริษัทนั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ค่อนข้างมาก หากใช้กลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจใหม่ด้วยตนเอง (Greenfield investment) ทั้งนี้ ประเทศที่ตลาดทุนยังเพิ่งเริ่มพัฒนาหรือยังมีระดับการพัฒนาต่ำ อาทิ กัมพูชา เวียดนาม นั้น โอกาสในการเข้าซื้อกิจการของพันธมิตรทางธุรกิจจากไทย หรือ strategic partners ย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 4.6-4.9 โดยประเทศในกลุ่ม CLMV มีอัตราการขยายตัวที่สูงถึงราวร้อยละ 7 ในขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้เพียงร้อยละ 3.2-3.6 ประกอบกับจำนวนประชากรอาเซียนที่มีมากกว่า 620 ล้านคน พร้อมทั้งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ที่คาดว่ากำลังซื้อในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นจากราว 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2556 เป็น 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 หรือขยายตัวราวร้อยละ 4 ต่อปี ย่อมเป็นการกระจายความเสี่ยง ผนวกกับเป็นการขยายตลาดซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของบริษัทโดยรวมอีกทาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าธุรกรรม M&A ของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา(2555-2558) มูลค่าธุรกรรม M&A เฉลี่ยอยู่ที่ราว 556 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อดีล เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2549-2554 ที่มีมูลค่าธุรกรรม M&A เฉลี่ยเพียงราว 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อดีล หรือขยายตัวกว่า 13 เท่า ถึงแม้ว่าจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยจะไม่แตกต่างกันมากนัก(ราว 9 ธุรกรรมต่อปี)

"มูลค่าธุรกรรม M&A ของไทยไปยังอาเซียน อาจแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 นี้ แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการไทยในการใช้ธุรกรรม M&A ขับเคลื่อนการลงทุนในต่างประเทศที่มากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบสัดส่วนมูลค่าการทำธุรกรรม M&A ในอาเซียนต่อ GDP (M&A/GDP) ของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ปี 2555-2557) สัดส่วนโดยเฉลี่ย M&A/GDP ของไทยขยายตัวสูงสุดมาอยู่อันดับที่ 1 อยู่ที่ราวร้อยละ 1.3 ของ GDP จากร้อยละ 0.15 ของ GDP ในช่วงปี 2552-2554 โดยถึงแม้ว่าจะตัดธุรกรรมขนาดใหญ่ (ดีลเข้าซื้อกิจการอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์กว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไทยก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน ยิ่งเสริมภาพการตื่นตัวของผู้ประกอบการไทยในอาเซียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การทำ M&A ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป กลยุทธ์การควบรวมที่แข็งแกร่ง การบริหารความเสี่ยงและสภาพคล่องที่ดี รวมทั้งการบริหาร stakeholders อย่างชาญฉลาด ช่วยลดความน่าจะเป็นของความล้มเหลวในการทำ M&A ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตดังนี้ 1.ผู้ประกอบการควรมีเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จของโครงการในระยะยาว เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมธุรกิจที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป 2.ในระดับของประเทศ ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง

"การทำ M&A ในต่างประเทศให้มีความยั่งยืนนั้น การเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศควรคำนึงถึงแนวโน้มระยะยาว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งควรมีกระแสเงินสดที่เพียงพอรองรับความผันผวนในตลาดโลก และการบริหารผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders’ management) อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจภายใต้ M&A ราบรื่นขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ผู้ประกอบการไทยที่มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านตราสินค้าและการดำเนินงาน ควรริเริ่มเฟ้นหาบริษัทที่มีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อให้ทันกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงและประชากรที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพื่อลดการแข่งขันของตลาดภายในประเทศไทยที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยอาจพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์ M&A เพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงฐานลูกค้า วัตถุดิบ การได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจและตลาดใหม่ๆ

ทั้งนี้ ควรเน้นการเสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าหรือ Brand ให้เป็นที่รู้จักภายในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น ผ่านการทำการตลาดที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกันออกไป โดยอย่าลืมคำนึงถึงจุดประสงค์ของการทำธุรกรรม M&A ว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรประเมินสถานะของบริษัทที่จะเข้าซื้อกิจการ รวมถึงการผนวกกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ