สหรัฐฯ คงสิทธิ GSP สินค้าไทย-ผ่อนผันไม่ระงับสิทธิสินค้าเกษตร 9 รายการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 2, 2015 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯได้ทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2557 ซึ่งมีสินค้าไทยได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waivers จำนวน 9 รายการ ได้แก่ กล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอแห้ง, มะขามตากแห้ง ฯลฯ และกรณียกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (CNL Waivers) กรณีสัดส่วนการนำเข้าเกินร้อยละ 50 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ มะพร้าวปรุงแต่ง และลวดทองแดงอื่นๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป
"การที่สหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waivers และกรณี CNL Waivers ครั้งนี้ ทำให้สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร" รมว.พาณิชย์ ระบุ

ทั้งนี้การทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลสถิติของปีก่อนหน้า(ปี 2557) มาพิจารณา โดยมีผลบังคับใช้ในปีถัดไป สำหรับการผ่อนผันกรณี De Minimis Waivers เป็นกรณีที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้านั้นจากทั่วโลกต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด (ปี 2557 = 22.5 ล้านเหรียญ) ก็สามารถขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP ได้

สำหรับกรณีการขอยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (CNL Waivers) เป็นการขอผ่อนผันให้ยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ หากสินค้านั้นได้รับการยกเว้นเพดานการนำเข้าก็จะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยไม่มีระดับเพดาน (CNLs) ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดเพดาน 2 กรณี คือ กรณีเพดานมูลค่านำเข้าเกินที่กำหนดในแต่ละปี (ปี 2557 = 165 ล้านเหรียญ) และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50

รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ ประจำปี 2557 ปรากฏว่าไทยไม่มีรายการที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกทราบโดยทั่วกัน และควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ