(เพิ่มเติม1) SCB EIC คาด GDP ไทยปี 58 ขยายตัว 2.0-2.5% ก่อนโต 2.5-3.0% ในปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 15:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 2.0-2.5% ก่อนมาขยายตัว 2.5-3.0% ในปี 2559 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการลงจากเดิมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวลงของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแลถภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง รวมถึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและค่าเงินที่อ่อนค่า ภาวะดังกล่าวทำให้ครัวเรือนในภาคเกษตรและธุรกิจขนาดเล็กประสบปัญหาด้านรายได้ และยังทำให้ภาคธุรกิจโดยรวมชะลอการลงทุนออกไปเพราะขาดความเชื่อมั่นแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม

ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของจีนเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปอีกหลายปี

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC ระบุว่า แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะมาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว อุปสรรคในภาคการส่งออกทำให้ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สำหรับปี 2559 การใช้จ่ายในประเทศน่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายเล็กที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2558 ในด้านงบประมาณ รัฐบาลมีแผนดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 แสนล้านบาท จากเดิม 2.5 แสนล้านบาท โดยงบประมาณลงทุนในปีงบประมาณ 2559 จะเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นและกำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในและนอกประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป นอกเหนือจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของไทยอีกครั้งในปี 2559 เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% และในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีนก็ไม่ได้ชะลอลงตามเศรษฐกิจ

ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้านเป็นสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ จุดชนวนทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุน รวมถึงเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้บางประเทศในแถบอาเซียนมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมากและยังต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจนทำให้มีเหลือน้อยเมื่อเทียบกับหน้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่ค้า

สำหรับไทย SCB EIC ประเมินว่า การไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายพชรพจน์ กล่าวอีกว่า ศูนย์วิจัยฯ ยังได้ประเมินภาคการส่งออกในปีนี้จะ -5% ก่อนจะกลับมาขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 2% ในปี 59 โดยมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เกษตรที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอื่นๆ อย่าง ญี่ปุ่นและอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปจนถึงต้นปีหน้า

ประกอบกับปัญหาระยะยาวเชิงโครงสร้างการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ตรงกับความต้องการโลก และการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันจนส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า ซึ่งจะกดดันการส่งออกในปีหน้าเติบโตได้เพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ในปี 59 ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกจะมาจากค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยฯคาดเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงกว่า 37.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง ผลของการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากสหภาพยุโรปที่จะหมดไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาด CLMV ที่จะก้าวมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอยู่ที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นจำนวนกี่ครั้ง ในอัตราที่เร็วเพียงใด และจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคมากยิ่งขึ้นหรือไม่ รวมทั้งราคาน้ำมันจะยังคงต่ำต่อไปในระดับที่ทำให้ไทยยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกเหมือนกับปีนี้หรือไม่

สำหรับการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าในปี 59 จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อไป เนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและเงินทุนไหลออกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้กนง.ไม่น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยลง ซึ่งอาจจะกดดันค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่าลงไปอีก และจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทย โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เดิม จะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชน มองว่า ภาคเอกชนจะมีการลงทุนก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างน้อย 7-8 เดือน โดยตัวบ่งชี้การลงทุนภาคเอกชนได้ดี จะเป็นการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนต่อไป ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ กลุ่มการแพทย์ โรงแรม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เนื่องจากมีรายได้ที่อยู่ในช่วงขยายตัวและส่วนกำไรสุทธิที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจัยที่จะส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนจะมาจากนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้แก่บริษัทจดทะเบียน,การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฯลฯ ซึ่งคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะหดดตัว 2.2% และจะเติบโตเล็กน้อยในปีหน้าที่ระดับ 1.8%

ด้านการบริโภคภาคเอกชน EIC ประเมินว่าในปี 59 การบริโภคภาคเอกชนของไทยจะเติบโตได้ 1.5% และในปีนี้ 1.4% ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้บ้าง เช่น การปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 2 ปี และมาตรการจัดสรรงบประมาณลงสู่ 7,000 ตำบล ให้มีการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนก่อสร้างและเกิดการจ้างงานขึ้นในท้องถิ่น แต่ยังต้องจับตาดูในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน และราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ โดยการให้สินเชื่อแก่ครัวเรือนเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้สูงขึ้นจากเดิม จากปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 80% ของ GDP ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถส่งเสริมให้ครัวเรือนมีรายได้และการจ้างงานมากขึ้นก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนได้ในอนาคต อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ประเมินว่าราคาน้ำมันในปี 59 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำราว 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรจะยังไม่เพิ่มสูงมากนักและทำให้การบริโภคของครัวเรือนภาคเกษตรอาจฟื้นตัวได้ช้าในระยะต่อไป

"ปัจจัยสำคัญทั้งปีนี้และปีหน้าที่มีการขยายตัวได้ค่อนข้างน้อย เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบมากต่อบ้านเราและประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวลง 8 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ลดลงแล้วกว่า -5% และน่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าราว 2% ซึ่งปัจจัยสำคัญในปีหน้า จะมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่เข้าไปช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งน่าจะเห็นผลชัดเจนได้ในปี 59 และการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยมองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งจะดูได้จากผลประกอบการโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างน้อย 7-8 เดือน

แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีน ที่น่าจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจีนจะเติบโตได้ 6.8% ในปีนี้ ขณะที่ปี 59 จะขยายตัวลดลงราว 6.3% รวมถึงประเทศมาเลเซีย มีโอกาสเกิดวิกฤตดุลการชำระเงิน หากธนาคารกลางมาเลเซียยังแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยหากมาเลเซียเผชิญกับเงินทุนไหลออกรุนแรง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปมาเลเซียและการท่องเที่ยวของไทย และอาจเป็นอุปสรรคจต่อการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย"นายพชรพจน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ