CIMBT คาด GDP ปี 59 โต 3% ท่องเที่ยว-ค้าชายแดนหนุน บาทอ่อน 37-40 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2015 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ประเมินอัตราการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 อยู่ที่ 3% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5%

ปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้จะมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า แม้ว่าสัดส่วนภาคท่องเที่ยวจะคิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ก็ตาม โดยภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเติบโตได้ 100% และจะส่งผลไปถึงปีหน้าอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่จะออกมาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ประกอบกับ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา เป็นอีกปัจจัยทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ โดยประเทศเพื่อนบ้านวมีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 6-7% และยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯและ AEC ยังเป็นบวกได้

อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าของไทยที่แม้ว่าจะอ่อนค่าลงแต่ยังอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลให้ประเทศไทยเสียความสามารถในการส่งออก ทำให้ศูนย์วิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 59 นั้นจะไม่ขยายตัว หรือขยายตัว 0% จากปีนี้ที่ติดลบ 5%

"ความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็มีความหวังในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ความหวังในการต่อยอดห่วงโซ่และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าไทย มี่เราควรจะต้องหันมาเน้นสินคิที่มีคุณภาพสูง มากกว่าการเน้นเจาะตลาด และการผลิตสินค้าที่เน้นการควบคุมต้นทุนมากจนเกินไป เพราะถ้าสินค้าเรามีคุณภาพดีมันก็สามารถขายได้ เพราะตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ส่วนความหวังอีก 2 อย่าง คือ ความหวัง่ Border Trade ในกลุ่ม CLM ที่อยู่ติดกับเรา ซึ่งเขามีความต้องการสินค้าของเราและเศรษฐกิจเขาโดยรวมโตได้ดีที่ 6-7% ความสามารถในการซื้อก็ยังถือว่าสูงอยู่ และความหวังของ Tourism ที่จะยังช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้"นายอมรเทพ กล่าว

ส่วนค่าเงินบาทในปี 59 ให้กรอบไว้ที่ 37-40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากปีนี้ที่ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้จะต้องจับตามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเข้ามาดูแลกระแสเงินทุนไหลออกเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ

นอกจากนี้ ยังต้องจับตามาตรการผ่อนคลายในด้านต่างๆของ ธปท.เพื่อช่วยเหลือการทำธุรกรรมต่างๆในต่างประเทศ อย่างเช่น การเพิ่มการทำธุรกรรมเงินสกุลอื่นๆ อย่างเช่น เงินเยน หลังจากมีการพิจารณาเพิ่มเงินสกุลหยวน(RMB) ในการทำธุรกรรมกรรมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเงินหยวนเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นอันดับที่ 5 ของโลก

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 59 คาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงปีหน้า แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ