นายกฯ ประชุมร่วมภาคเอกชน ขอความร่วมมือ SMEs เข้าระบบ-เร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านกรอ.จังหวัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2015 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมธนาคารไทย, ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการในแต่ละสายงานของตนเองได้รับทราบ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
"ภาคเอกชนบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลส่งสัญญาณได้ดีมากคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ 1 กันยายนเป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีบอกว่าสัญญาณดี อย่าดีเฉพาะแค่ 5 เสือ สัญญาณดีต้องส่งต่อไปยังภาคธุรกิจเอกชนในแต่ละสายงานของท่าน ในส่วนรัฐบาลมีกลไกขับเคลื่อนจากส่วนกลางไปยังระดับท้องถิ่น ภาคเอกชนก็ต้องส่งสัญญาณไปแบบนี้เหมือนกัน เพื่อจะได้สอดรับกัน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ในโอกาสนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนกันยายน การดำเนินการค่อนข้างเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งต่อข้อมูลและแผนงานต่างๆ ซึ่งตั้งใจว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้จะเร่งรัดขับเคลื่อนเม็ดเงินลงสู่ระบบให้ได้

โดยที่ประชุมฯ ได้มีการหารือมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ SMEs ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมถึงอยากให้มีการจัดทำบัญชี SMEs ให้เกิดความถูกต้อง โดยให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลความรู้ในการจัดทำบัญชีให้กับ SMEs และจัดทำเป็นระบบบัญชีเดียว เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของ SMEs ให้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการปรับปรุงการทำงานของ กรอ.ระดับจังหวัด โดยที่ประชุมฯ มอบหมายแนวทางผ่านไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่าอยากให้การประชุม กรอ.ระดับจังหวัดในแต่ละครั้ง ควรมีการแยกวาระการประชุมในเรื่องเศรษฐกิจให้เป็นวาระพิเศษ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลได้เน้นการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจที่กระจายความเจริญเติบโตไปยังท้องถิ่นเป็นหลักด้วย พร้อมทั้งสั่งการให้มีการฟื้นฟูการประชุม กรอ.ระดับภาค ซึ่งรัฐบาลจะมีการส่งตัวแทนจากส่วนกลางไปติดตามการทำงานของ กรอ.ระดับจังหวัดด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบว่า หากทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ ก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องของการทุจริต เพราะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ต้องการให้มีการขับเคลื่อนการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ทางรัฐบาลได้ชี้แจงรายละเอียดแผนงาน โครงการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐว่ามีความคืบหน้าอย่างไร และขอให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้แผนงานดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยประชาสัมพันธ์แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

โดยที่ประชุมฯ ได้ให้ข้อมูลการดำเนินโครงการของภาครัฐ ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในพื้นที่ต่างๆ และงบประมาณที่ลงไปช่วยผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้ภาคเอกชนรับทราบในสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ และขอรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาปรับแผนแก้ไข โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่ต้องลงสู่ท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เสนอที่ประชุมเรื่องการปรับโครงสร้างการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ให้มีวาระการประชุมที่เน้นด้านเศรษฐกิจเท่านั้น และดูความต้องการของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก จากนั้นต้องประสานความร่วมมือมายังส่วนกลาง เพื่อดำเนินการตามแผนที่วางไว้ พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนไปลงทะเบียนให้เรียบร้อย เพื่อสะดวกต่อการรับความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายฉบับเดียว ซี่งในเรื่องการจัดทำบัญชี กรมสรรพากร กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อผู้ประกอบการให้ง่ายต่อการทำบัญชีขึ้น ซึ่งภาคเอกชนก็จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าไปใช้บริการของภาครัฐ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะจัดทำรายงานเพื่อนำมาเสนอต่อรัฐบาลว่าพบอุปสรรคและปัญหาใดบ้าง เมื่อดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับรัฐบาลในทุกๆเดือน

ส่วนนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ SMEs ที่จัดทำบัญชีถูกต้องจะส่งผลดีในระยะยาวต่อการขยายกิจการและสถาบันการเงินจะได้พิจารณาการให้สินเชื่อผ่านงบการเงินได้สะดวกขึ้น ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้ให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนในโครงการคำประกันสินเชื่อ PGS5(ปรับปรุงใหม่) วงเงิน 1 แสนล้านบาทผ่าน 19 ธนาคาร ซึ่งบสย.ค้ำประกันไปแล้ว 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะทำยอดวงเงินได้ 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และจะทำให้อัตราการเติบโตของสิ้นเชื่อ SMEs ทั้งปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 เป็นร้อยละ 6.5 ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจะช่วยสร้างกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่น ความสนใจให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ