ร.ฟ.ท.คาดเซ็นสัญญาซื้อรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์จากจีนในเดือนธ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2015 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยนายอาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบการประกวดราคาซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา(City Line) 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ สำหรับใช้ในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ราคากลาง 4,413.10 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปราคาตัวรถและระบบอาณัติสัญญาณแล้ว เหลือการเจรจาส่วนของค่าอะไหล่สำรองอีก 10%

ปัจจุบันขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 9 ขบวน ให้บริการได้ 7 ขบวน โดยอีก 2 ขบวนอยู่ระหว่างรออะไหล่ซ่อมบำรุงคาดว่าจะเสร็จในเดือนเม.ย.59 ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากเฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวัน รถที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอในการให้บริการ ต้องเร่งรัดการจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน นอกจากนี้จะเร่งรัดการซ่อมบำรุงหนัก (Overhaul) รถ 9 ขบวนเดิม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนการแยกบริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)นั้น นายอาคม กล่าว่า กำหนดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2559 เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร โดยร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100% จากปัจจุบันร.ฟ.ท.จะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีและจัดเก็บรายได้ไปดูแล แต่อนาคตหลังแยกการบริหาร ระบบงบประมาณรายได้รายจ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง ทางแอร์พอร์ตลิงก์จะดำเนินการเอง และทำให้สามารถตรวจสอบศักยภาพในการบริหารของแอร์พอร์ตลิงก์ได้ชัดเจน และทำให้ทราบต้นทุนในการเดินรถอีกด้วย

โดยขณะนี้ทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์มีประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท จะพิจารณาวิธีการโอนร่วมกับหนี้สินและรายได้รายจ่ายที่มี โดยคำนึงว่าแอร์พอร์คลิงก์จะต้องอยู่ได้ ซึ่งอาจจะต้องทยอยการโอนซี่งปี 2559 ร.ฟ.ท.ได้มอบอำนาจให้แอร์พอร์ตลิงก์ดำเนินการในเรื่องจัดซื้อจ้ดจ้างเองแล้ว

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า หลังมีข้อท้วงติงได้มีการชี้แจงแล้ว โดยขณะนี้ได้เจรจากับผู้เสนอราคาคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ชางชุน ซีอาซีซี และ ริเวอร์ เอนจิเนียริง และสรุปราคาตัวรถและอาณัติสัญญาณที่ 4,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาในส่วนของค่าสำรองอะไหล่ คาดว่าจะส่งเรื่องไปสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ในเดือนต.ค.นี้เพื่อพิจารณาแหล่งเงิน และจะลงนามสัญญาได้ในปลายเดือนธ.ค.58 และใช้เวลาส่งมอบรถ 24 เดือนคาดรถทั้ง 7 ขบวน จะส่งมอบครบในปี 61 ระยะเวลารับประกัน 2 ปี เพิ่มขีดความสามารถรองรับ ซึ่งประมาณการณ์ผู้โดยสารในปี 61 จะมีถึง 1.2 แสนคนต่อวัน

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติโครงการเมื่อปี 56 วงเงินรวมกว่า 4,800 ล้านบาท แยกเป็นตัวรถและอาณัติสัญญาณประมาณ 4,400 ล้านบาท และค่าสำรองอะไหล่อีก 10% เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในรถ 9 ขบวนแรกที่ไม่ได้เตรียมสำรองอะไหล่ไว้ ส่วนกรณีที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ท้วงติงว่าราคาแพงและล็อคสเปคนั้น ประเด็นที่ 1 พื้นที่ยืน ทีโออาร์กำหนด 6 คนต่อตารางเมตร ส่วนน้ำหนักกดเพลาไม่เกิน 10 คนต่อตารางเมตร ไม่ได้กำหนดพื้นที่ยืนว่า 10 คนต่อตารางเมตร ประเด็นที่ 2 ระบบขับเคลื่อนด้วยชุดมอเตอร์ไฟฟ้า 1ขบวน(4ตู้) จะมี 2 ชุด(หน้า,หลัง)เพื่อป้องกันการจอดตายกลางทาง โดยเมื่อมอเตอร์ชุดใดเสียอีกชุดจะต้องทำงานขับเคลื่อนได้ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีความเร็ว 160 กม./ชม.เท่าเดิม และประเด็นที่ 3 ราคาแพงโดยเปรียบเทียบกับรถของมาเลเซีย เนื่องจากรถแอร์พอร์ตลิงก์มีเสปคที่สูงกว่า ทั้งความเร็ว และมีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในตัวรถ เช่น อาณัติสัญญาณ, CCTV,ไวไฟ, ระบบเตือนผู้โดยสาร, ทีวีในตัวรถ เป็นต้น ส่วนมาเลเซียซื้อแต่ตัวรถเปล่า

ทั้งนี้ ในการจัดซื้อรถและกำหนดราคากลางนั้น ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตต่างๆ และนำมาหาค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม ซึ่งการจัดซื้อรถ 7 ขบวนนี้ ใช้เสปคเดียวกับรถ 9 ขบวนแรก (31 ตู้) ที่มีการจัดซื้อเมื่อเดือนม.ค.48 โดยมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและออกแบบให้ทันสมัยขึ้น โดยราคารถ 9 ขบวนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 149 ล้านบาทต่อตู้ ส่วนรถ 7 ขบวน (28 ตู้) เฉลี่ยอยู่ที่ 135 ล้านบาทต่อตู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ