(เพิ่มเติม) เงินบาทเปิด 35.47/49 กลับมาอ่อนค่าจากเย็นวานนี้หลังมีแรงซื้อดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 13, 2015 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 35.47/49 บาท/ดอลลาร์ กลับมาอ่อนค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.34/39 บาท/ดอลลาร์

เช้านี้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าจากเมื่อวาน เนื่องจากมีแรงซื้อดอลลาร์กลับ จากที่ก่อนหน้านี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าไปมาก โดยวันนี้มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่า

"วันนี้บาทกลับมาอ่อนค่าจากเมื่อวาน เพราะมีแรงซื้อ(ดอลลาร์)กลับ จากที่เมื่อวานบาทกลับไปค่อนข้างแข็งค่า" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 35.5200 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 3M(12 ต.ค.) อยู่ที่ 1.64239% ส่วน THAI BAHT FIX 6M(12 ต.ค.) อยู่ที่ 1.69593%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เปิดตลาดเช้านี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.87/89 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 120.10 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1351/1353 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.1380 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.524 บาท/ดอลลาร์
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ได้เสนอรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้พิจารณาแล้ว จากนี้จะรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา หากนายกฯ ไม่ได้ให้แก้ไขรายละเอียดอะไร ต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาเห็นชอบทันที
  • ทีมเศรษฐกิจหารือการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ตามภารกิจและตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน คาดนำไปใช้ในปี 2560 ขณะที่รองนายกฯ เศรษฐกิจเตรียมเสนอ ครม.ดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ กระทรวงการคลัง เสนอมาตรการภาษี การลดค่าธรรมเนียนการโอน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ช่วยประชาชนมีบ้าน กระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • แบงก์ชาติเผยการชะลอตัวเศรษฐกิจส่งผลให้ทุกพื้นมีธุรกรรมเช็คลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าเช็ค พบส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดเล็กมีการสั่งจ่ายเช็คน้อยลง ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณและมูลค่าเช็คน้อยลงเหลือ 2.72 แสนฉบับ หรือคิดเป็น 1.44 แสนล้านบาทต่อวัน ขณะเดียวกัน เช็คเด้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นดันให้มูลค่าเช็คเด้งในระบบเพิ่มขึ้น
  • "พาณิชย์" รับนำ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า กลับมาปรับปรุงแก้ไขใหม่อีกครั้ง ระบุยังมีข้อกังวลในส่วนของการปลดให้สำนักงานเป็นองค์กรอิสระ และที่มาของกรรมการจะปลอดการเมืองได้จริงหรือไม่ เตรียมหารือทุกภาคส่วนอีกครั้ง ก่อนนำเสนอ ครม. เอกชนมึนทำเสร็จแล้ว แต่เอากลับมาทำใหม่ เข้าทางรายใหญ่ผูกขาดได้ต่อไป
  • รมช.คลัง คุยร่วมผู้ว่าฯ ธนาคารกลางอาเซียนรับมือผลกระทบ ศก.จีนชะลอตัว ต้องระมัดระวังความเสี่ยงของประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ
  • นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 จะปรับเป้าหมายการทำงานใหม่เพื่อมุ่งสร้างรายได้ตลาดในประเทศให้แข็งแรงมากขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่รายได้ 1 ล้านล้านบาทได้ จากที่ปี 2558 ตั้งเป้ารายได้ไว้ 800,000 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งเป้าไว้ 807,000 ล้านบาท ขยายตัว 8%
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่เฟดจะรีบเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟด เปิดเผยว่า เฟดมีท่าทีที่ระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ในต่างประเทศ และผลกระทบต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่
  • นักลงทุนจับตาดูรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย., ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนส.ค.
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) รายงานว่า การผลิตน้ำมันดิบของโอเปกปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก.ย. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด

โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ร่วงลง 2.53 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 47.1 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดลอนดอน ดิ่งลง 2.79 ดอลลาร์ หรือ 5.3% ปิดที่ 49.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • นายเบนัวต์ โคเออร์ สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่ ECB จะตัดสินใจเกี่ยวกับการขยายวงเงิน หรือขยายเวลาในการดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้ว่า ECB มีความพร้อมที่จะดำเนินการ หากมีความจำเป็นก็ตาม พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนกำลังฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดมาจากภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ