สนพ. สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพลังงานทดแทนตามศักยภาพพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 27, 2015 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนในระดับชุมชนอย่างเข้มข้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้เดินหน้าวางแผนจัดการพลังงานชุมชนแบบครบวงจร โดยได้ร่วมมือกับพลังงานจังหวัดสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมในการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพ เน้นตามศักยภาพในพื้นที่และบนพื้นฐานแห่งความพอเพียงในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริงซึ่งที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนพลังงานชุมชน พลังงานจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและคนในชุมชน เกิดความตระหนักรู้ร่วมกันบริหารจัดการพลังงานของชุมชน

ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเหลือง(อบต.นาเหลือง) อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชุมชนที่มีความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม การันตีด้วยรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี พ.ศ.2557 โดยโครงการพลังงานชุมชนได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดน่านในการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงเป็นการบ่มเพาะให้คนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ จนทำให้ปัจจุบันมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และพลังงานในชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนตำบลนาเหลืองกับตำบลข้างเคียง

นายนพดล อุสาหะ พลังงานจังหวัดน่าน กล่าวว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดน่านได้ดำเนินตามโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล(152 อปท.) ร่วมกับ อบต.นาเหลือง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมา 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2559 โดยมีการบูรณาการด้านพลังงานและกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และร่วมกับภาคการเกษตรในการพัฒนา แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้ตำบลนาเหลืองได้เป็นต้นแบบของการนำเรื่องพลังงานมาใช้

ที่ผ่านมาผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในท้องถิ่นมีเป็นจำนวนมาก และในบางชุมชนมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานในการแปรรูป กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้สนับสนุนพลังงานจังหวัดดำเนินโครงการด้านพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ในการนำเทคโนโลยี ไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตสินค้าแปรรูป ช่วยลดต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งโครงการด้านพลังงานที่ อบต.นาเหลือง ได้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เช่น โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ ขยายผลโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริจังหวัดน่าน เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานในอบผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถแข่งขันและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากขึ้น และโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนตามแนวทางโครงการการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริจังหวัดน่าน เพื่อให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกนอกฤดูฝน รวมถึงมีรายได้จากการปลูกพืชเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในเขตพื้นที่ อบต.นาเหลือง ยังมีพลังงานชุมชนที่โดดเด่นอีกมากมาย อาทิ โครงการบ่อก๊าซชีวภาพขนาดครัวเรือน ซึ่งเข้าร่วมโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ ลดการเกิดก๊าซมีเทน ผลสำเร็จของโครงการ คือ ทำให้ครัวเรือนที่เข้าร่วมสามารถลดปัญหาด้านมลภาวะและลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซ LPG รวมถึงสามารถนำมูลหรือเศษที่ได้จากการหมักก๊าซมาใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ, โครงการส่งเสริมการใช้เตาแก๊สชีวมวลแกลบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานแก๊ส LPG ในระดับครัวเรือน และนำเศษวัสดุที่เหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงเป็นการนำแกลบดำ ที่เหลือจากการเผาไหม้มาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร, โครงการตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้อาสาสมัครพลังงานชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย น่ารับประทาน และยอดจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

นายสุพจน์ มูลฐี นายก อบต.นาเหลือง กล่าวว่า ทางอบต. ได้ทำข้อตกลงกับพลังงานจังหวัดน่าน โดยได้ร่วมวางแผนการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนประหยัดค่าใช้จ่าย ในชีวิตประจำวันจากโครงการต่างๆ เช่น ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จากเดิมต้องใช้แสงแดดในการตากแห้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชุมชนอย่างมะไฟจีน ปกติต้องใช้เวลาตากแดดถึง 7 วัน แต่พอเปลี่ยนมาใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถย่นระยะเวลาดำเนินการเหลือเพียงแค่ 3 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิตไปได้มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ