รัฐเล็งซื้อไฟฟ้าโครงการปากเบ่ง-น้ำเทิน1 ในลาว, จ่อขยายเวลา MOU ซื้อไฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 29, 2015 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมที่จะรับซื้อไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากเบ่ง ขนาด 798 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 1 จำนวน 520 เมกะวัตต์ในลาว ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวได้ใกล้เคียงตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU) ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากลาว 7 พันเมกะวัตต์

โดยโครงการปากเบ่ง เป็นโครงการที่ผู้ผลิตจากจีนได้สัมปทานและคาดว่าจะมี บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์(RATCH) เข้าร่วมลงทุนด้วย ส่วนโครงการน้ำเทิน 1 มีบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เป็นผู้ร่วมถือหุ้นในโครงการด้วย

ปัจจุบันไทยมีสัญญาซื้อไฟฟ้าจากลาวแล้วรวม 5,421 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบภายในปี 62 โดยขณะนี้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 3,087 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2,334 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน-หินบุน, ห้วยเฮาะ,น้ำเทิน2, น้ำงึม 2 ,น้ำเทิน-หินบุนส่วนขยาย ,โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา 2 ยูนิต ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ยูนิต 3 ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมี.ค.59 ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ,เซเปียน-เซน้ำน้อย และน้ำเงี้ยบ 1 จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 62

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลา MOU การรับซื้อไฟฟ้าจากลาว รวมถึงปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วย หลัง MOU ดังกล่าวจะหมดอายุในปลายปีนี้ โดยในอนาคตการรับซื้อไฟฟ้าอาจจะเป็นการรับซื้อผ่านทางการไฟฟ้าลาว จากเดิมที่เป็นการรับซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิต เนื่องจากในอนาคตจะมียุทธศาสตร์เชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่างกันในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้การซื้อไฟฟ้าในภูมิภาคเป็นตลาดเสรี (GMS POWER POOL) ช่วยจะสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในอาเซียน

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ ในลาวที่มีศักยภาพที่จะขายไฟฟ้ากลับมาในไทย ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ขนาด 240 เมกะวัตต์,เซกอง 5 ขนาด 330 เมกะวัตต์, น้ำกง 1 ขนาด 75 เมกะวัตต์ และเชนาคาม ขนาด 660 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าในเมียนมาร์นั้น ปัจจุบันมี MOU ที่จะรับซื้อโดยไม่มีการระบุปริมาณรับซื้อ แต่เห็นว่ามีโครงการที่มีศักยภาพ รวม8,690-9,890 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มายตง กำลังผลิต 6,300 เมกะวัตต์, มายกก ใช้ถ่านหินลิกไนต์ เป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 390 เมกะวัตต์,เชียงตุง ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 200-600 เมกะวัตต์ ,ทะนินทะยี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ และโครงการมะริด ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 1,200-2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ยังไม่ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้า

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชา ปัจจุบันยังไม่มีการรับซื้อ แต่มี MOU การซื้อไฟฟ้าโดยไม่ได้ระบุเวลาการรับซื้อ ขณะที่เห็นว่ามีโครงการที่มีศักยภาพ รวมประมาณ 1,894-2,494 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการเกาะกง แบ่งเป็น 2 โครงการโครงการของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ซึ่งใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเขื้อเพลิง กำลังผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ และโครงการของบริษัท เกาะกงยูทิลิตี้ จำกัด ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้ามายังกระทรวงพลังงานแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม กำลังการผลิต 94 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ