คลังส่งร่าง กม.รองรับ National e-Payment เข้าครม.พรุ่งนี้หวังลดต้นทุนประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2015 18:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้(1 ธ.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชำระเงิน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานรรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิคส์ (e-Payment) โดยกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การทำงานในระบบ e-Payment มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการในระบบ e-Payment มีความรัดกุม โดยหลักเกณฑ์จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

ทั้งนี้ รมว.คลัง คาดว่า ระบบ e-Payment จะเริ่มดำเนินการได้บางส่วนในช่วงกลางปี 59 และจะดำเนินการได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี

สำหรับโครงการระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) จะแบ่งรายละเอียดเป็น 5 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการที่ทำให้ประชาชนสามารถโอนเงินจากบัญชีเข้า Any ID เช่น ID ของมือถือ หรือบัตรประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกมากที่สุด

2. โครงการที่ให้ร้านค้าทั้งหมดที่มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ มีเครื่องรับบัตรในระบบ e-Payment ทำให้การใช้ระบบมีความกว้างขวางมากขึ้น

3. เป็นโครงการที่กรมสรรพากรจะต้องเตรียมระบบสำหรับการจัดเก็บข้อมูลในการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์ทั้งหมด ทำให้การหลบเลี่ยงภาษีทำได้น้อยลง

4.โครงการลงทะเบียนสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อเข้าสู่ระบบการชำระเงินผ่าน e-Payment

และ 5.โครงการส่งเสริมใช้บัตรอิเล็กทรอนิคส์ในการชำระเงินมากขึ้น

"ในจำนวน 5 โครงการนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะมีความเกี่ยวโยงมากที่สุดในโครงการที่ 1 และ 2 ส่วนโครงการที่รัฐจะต้องมีการลงทุนน่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบของกรมสรรพากร ส่วนวงเงินลงทุนยังไม่ได้กำหนด แต่จะให้เปรียบเทียบ ก็น่าจะใกล้กับวงเงินลงทุนเรื่อง Core banking ของธนาคารพาณิชย์ คร่าวๆน่าะจะประมาณ 1 พันล้านบาท" รมว.คลัง กล่าว

นอกจากการอำนวยความสะดวกแล้ว หลังจากที่มีผลบังคับใช้แล้วจะต้องหาวิธีการสนับสนุนให้ประชาชเข้ามาใช้เงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านการเงินของประเทศ ซึ่งในต่างประเทศมีการสนับสนุนให้มีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ผ่านระบบอิเล็กทรอนิคส์จะได้อัตราที่ถูกลงกว่าจ่ายด้วยเงินสดของไทยจะต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียม ยืนยันว่าจะต้องมีค่าธรรมเนียมถูกลงเพื่อให้รายการชำระเงินขนาดเล็กๆ สามารถเข้ามาในระบบได้

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายกสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หากมีการลดการใช้เงินสดลง คาดว่าจะช่วยให้ประเทศลดภาระด้านการเงินได้ 1 ของ GDP คิดเป็นวงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท และระบบ e-Payment จะช่วยขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

"มองว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่จะดำเนินการเรื่องนี้เพื่อให้ทุกอย่างก้าวอย่างมั่นคง"นายบุญทักษ์ กล่าว

ส่วนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.มีแผนพัฒนาระบบการชำระเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นการให้ความสำคัญในการโอนเงินขนาดใหญเป็นหลัก แต่ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดทางให้รายย่อยสามารถเข้าถึงการชำระเงินผ่าน อิเล็กทรอนิคส์มากขึ้น Any ID จะเป็นหัวใจสำคัญในโครงการ

"ที่ผ่านมาการโอนเงินมีเบี้ยหัวแตกมานานหลาย 10 ปีแล้ว การมีระบบเข้ามาช่วยลดปัญหาตรงนี้"นายวิรไท กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ