ธนารักษ์ เผยราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ทั่วปท.ปี 59-62 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.72%, สีลมครองแชมป์แพงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2015 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า การกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด เพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการค้ำประกัน การลงทุน หรือเพื่อการเวนคืน การขับเคลื่อนนโยบายด้านภาษี ตลอดจนการกระจายการถือครองทรัพย์สินและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 รายได้จากการใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มียอดจัดเก็บประมาณ 90,251.70 ล้านบาท
"ในการประเมินและวิเคราะห์ราคาทรัพย์สิน เราใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาตลาด วิธีรายได้ และวิธีต้นทุน โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลกับราคาทรัพย์สิน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ ทำเลที่ตั้ง และคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น การผังเมือง และการควบคุมอาคาร การพัฒนาในพื้นที่ และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศประมาณ 32 ล้านแปลง หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 321 ล้านไร่ เป็นที่ดินรายแปลง 12.6 ล้านแปลง(จากเดิม 6.02 ล้านแปลง ในรอบบัญชีปี พ.ศ.2555-2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 177.77) และรายบล็อก 19.4 ล้านแปลง ประเมินราคาห้องชุด 12,300 อาคาร หรือ 924,877 ห้องชุด ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีแบบมาตรฐานเพื่อใช้ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดจำนวน 5 ประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว โรงเรือนอื่นๆ(แนวราบและแนวสูง) เช่นเดียวกันทั้ง 77 จังหวัด โดยในปี 2558 กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดทำบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างในรอบบัญชีปี 2559-2562 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะประกาศใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ที่จะถึงนี้

สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในรอบใหม่นี้ ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 27.72 โดยราคาประเมินที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15.78 ราคาประเมินในพื้นที่ปริมณฑลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.97 ภาคกลางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22.79 ภาคเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 37.31 ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 22.98 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 33.50 ภาคใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 21.04 และภาคตะวันตกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 39.59

พื้นที่ที่มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดของประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนสีลม จากแยกศาลาแดงถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ตารางวาละ 1,000,000 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 850,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.65 รองลงมาเป็นถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ถึงคลองแสนแสบ ถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ และถนนเพลินจิตตลอดสาย ราคาประเมินที่ดินใหม่ตารางวาละ 900,000 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 800,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.50 อันดับถัดมาเป็นถนนราชดำริ ช่วงจากแยกศาลาแดงถึงแยกราชประสงค์ ถนนวิทยุช่วงจากถนนเพลินจิตถึงถนนพระรามที่ 4 และถนนสาทรช่วงจากถนนพระรามที่ 4 ถึงถนนสุรศักดิ์ ตารางวาละ 750,000 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 600,000-700,000 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.09

ส่วนภูมิภาคนั้นราคาประเมินสูงสุดตารางวาละ 400,000 บาทอยู่ในจังหวัดสงขลา และราคาประเมินต่ำสุดตารางวาละ 10 บาทอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยปริมณฑลของกรุงเทพฯ ถนนงามวงศ์วาน และถนนกรุงเทพ-นนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ตารางวาละ 170,000 บาท ภาคใต้ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตารางวาละ 400,000 บาท ภาคเหนือ ถนนวิชยานนท์, ถนนท่าแพ, และถนนช้างคลาน(ทิศเหนือถนนศรีดอนไชย) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตารางวาละ 250,000 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถนนศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตารางวาละ 200,000 บาท ภาคกลาง ถนนโกสีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ตารางวาละ 107,500 บาท ภาคตะวันออก ถนนเลียบหาดพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตารางวาละ 220,000 บาท และภาคตะวันตก ถนนเพชรเกษม(ตลาดฉัตรไชย), และที่ดินติดชายทะเลบริเวณโรงแรมฮิลตัล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตารางวาละ 150,000 บาท

ขณะที่บริเวณที่มีราคาประเมินต่ำสุดทั่วประเทศ กรุงเทพมหานคร บริเวณคลองชานโล่งถึงชายทะเล เขตบางขุนเทียนตารางวาละ 500 บาท ปริมณฑลของกรุงเทพฯ ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตารางวาละ 125 บาท ภาคใต้ ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ตารางวาละ 40 บาท ภาคเหนือ ที่ดินไม่มีทางเข้าออกในเขตพื้นที่ป่าไม้ อำเภอกัลยาณิวัฒนา, อำเภอดอยเต่า, และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตารางวาละ 10 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอเมือง อำเภอคำชะอี และอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ตารางวาละ 25 บาท ภาคกลาง ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ตารางวาละ 20 บาท ภาคตะวันออก ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอเมือง, อำเภออรัญประเทศ, อำเภอวัฒนานคร, อำเภอวังน้ำเย็น, อำเภอคลองหาด, และอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ตารางวาละ 50 บาท ภาคตะวันตก ที่ดินไม่มีทางเข้าออก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตารางวาละ 40 บาท

สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในรอบใหม่ ในบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 38.88 สูงกว่าภาพรวมทั่วประเทศประมาณร้อยละ 10 โดยที่ 1. จังหวัดตราด อำเภอคลองใหญ่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24.88 ราคาประเมินสูงสุด ถนนมุ่งคีรี ตารางวาละ 7,000 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 3,750 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.67 ส่วนราคาประเมินต่ำสุดเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 100 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม,

2.จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 44.02 ราคาประเมินสูงสุด ถนนวิวิธสุรการ ตารางวาละ 24,000 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 25 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม อำเภอหว้านใหญ่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 46.02 ราคาประเมินสูงสุด ทางหลวงชนบทหมายเลข 3015 ตารางวาละ 650 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 400 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.50 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม อำเภอดอนตาล เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 41.09 ราคาประเมินสูงสุด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2034(มุกดาหาร-ดอนตาล) ตารางวาละ 1,200 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 60 บาท จากราคาประเมินเดิมตารางวาละ 50 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00,

3.จังหวัดสงขลา อำเภอสะเดา เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23.09 ราคาประเมินสูงสุด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ตารางวาละ 60,500 บาท ราคาประเมินเดิมตารางวาละ 25,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 142.00 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 100 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม,

4.จังหวัดตาก อำเภอแม่สอด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 92.36 ราคาประเมินสูงสุด ถนนอินทรคีรี และถนนประสาทวิถี ตารางวาละ 63,000 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 40 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม, อำเภอพบพระ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.80 ราคาประเมินสูงสุด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1206(ซอโอ-วาเลย์) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1090 (แม่สอด-อุ้มผาง) ตารางวาละ 2,000 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 100 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม, อำเภอแม่ระมาด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40.97 ราคาประเมินสูงสุด ถนนโสภิตบรรณลักษณ์, ถนนศรีบุญเรือง, ถนนระมาดไมตรี 1, และถนนเพลินจิต ตารางวาละ 4,000 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 3,500 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.29 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม,

5.จังหวัดสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 63.25 ราคาประเมินสูงสุด ถนนศรีเพ็ญ, ตลาดศูนย์การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา, ตลาดโรงเกลือ, และศูนย์การค้าอินโดจีน ตารางวาละ 20,000 บาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 5,000 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 ส่วนราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 50 บาท จากราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 30 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.67 อำเภอวัฒนานคร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.85 ราคาประเมินสูงสุด ถนนสุวรรณศร ตารางวาละ 15,000 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม ราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม

และ 6.จังหวัดหนองคาย อำเภอสระใคร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 31.31 ราคาประเมินสูงสุด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ตารางวาละ 2,100 ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาประเมินเดิม ราคาประเมินต่ำสุด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก ตารางวาละ 100 บาท จากราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 40 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 150.00

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ทิศทางการประเมินราคาทรัพย์สินในอนาคต กรมธนารักษ์มีแผนจะขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งยังคงมีแปลงที่ดินที่ต้องดำเนินการอีก 19.4 ล้านแปลง ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้การขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงจะทำให้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบราคาประเมินได้ทุกแปลงโดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น และใช้เป็นฐานภาษีสนับสนุนนโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแผนงานสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินเพื่อการประเมินราคาที่ดินรายแปลง เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำฐานข้อมูลแปลงที่ดิน และทะเบียนทรัพย์สินโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์ข้อมูลราคาประเมินที่ดินแห่งชาติในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ