(เพิ่มเติม) ที่ประชุม กนพ.เคาะเหลักเกณฑ์-อัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุเขตศก.พิเศษแต่ละพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2016 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติที่สำคัญ 3 เรื่อง โดยเรื่องแรก กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก(ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เห็นชอบอัตราค่าเช่าที่ดินรายปีของแต่ละพื้นที่ราชพัสุดใน(24,000 - 40,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งต่างกันในแต่ละพื้นที่) โดยให้ปรับค่าเช่าเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 5 ปี และเห็นชอบการปรับลดค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุตลอดระยะเวลา 50 ปี(160,000-300,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่) โดยสามารถชำระครั้งเดียวหรือผ่อนส่งได้ 5 ปี

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 117 วัน นับตั้งแต่ประกาศสรรหาผู้ลงทุนพัฒนา

เรื่องที่ 2 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 (นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี) เห็นชอบการกำหนดแปลงที่ดินของรัฐที่มีความเหมาะสมสำหรับให้เอกชนและหน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์ และแนวทางจัดหาที่ดินดังนี้ นครพนม 1,860 ไร่ ในต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม, เชียงราย จำนวน 3 พื้นที่ รวม 2,052 ไร่ ใน ต.สถาน อ.เชียงของ/ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน / ต.โป่งผา อ.แม่สาย, กาญจนบุรี 8,193 ไร่ ใน ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี

โดยมอบหมายกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำรายละเอียดทางด้านกฎหมาย เสนอ คสช.เพื่อถอนสภาพที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ แทนการดำเนินงานตามกระบวนการปกติ และให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีการถอนสภาพ

เรื่องที่ 3 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส โดยได้มอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อที่ดินเอกชน จ.นราธิวาส 2,277 ไร่ ใน ต.ละหาร อ.ยี่งอ และ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส เพื่อนำมาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าด้านสิทธิประโยชน์ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ในการ 1.ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% เป็นเวลา 10 รอบบัญชี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และ 2.ออกประกาศ BOI เพื่อกำหนดกิจการเป้าหมายเพิ่มเติม 10 ประเภท ใเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 และกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม 62 ประเภทกิจการ และกิจการเป้าหมายเพิ่มเติม 10 ประเภทกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานใน 10 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในโครงการระบบฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติทั่วประเทศ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนกลาง

รวมทั้ง รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และรับทราบการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ ระยะแรก มีเอกชนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมผ่านการขอสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้วมีมูลค่ารวม 400 ล้านบาท ในหลายประเภทกิจการ เช่นเสื้อผ้า ชุดชั้นใน เป็นต้น แต่หากนับรวมถึงกิจการในพื้นที่ทั้งค้าส่งและค้าปลีกหรือกิจการโรงแรม และโรงงานอื่นๆ หากนับรวมมูลค่าทั้งหมดจะมีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เตรียมออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ 2557 เรื่องจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครพนม และเชียงรายประมาณ 3 พันไร่ ซึ่งใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการจัดหาพื้นที่ในระยะที่ 1


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ