(เพิ่มเติม) ครม.ขยายเวลารับภาระชำระหนี้เงินกู้แทน รฟม.ออกไปอีก 7 ปี(2560-2566)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ออกไปอีก 7 ปี(ปี 2560-2566) เนื่องจากยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะชำระเงินกู้ดังกล่าว
"รฟม.ยังไม่มีศักยภาพ เพราะกู้เงินจากกระทรวงการคลังมาดำเนินการไม่ครบ loop ทำให้ประกาณการผู้โดยสาร ประมาณการรายได้ยังไม่เป็นไปตามเป้า ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายภาระหนี้ได้...รฟม.คำนวณว่าจะมีรายได้มากกว่ารายจ่ายเป็นปีแรกในปี 67" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

เดิม ครม.เมื่อปี 38 มีมติที่จะแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาแทน รฟม.เป็นเวลา 10 ปี โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยแทนเป็นระยะๆ ต่อมาเมื่อปี 46 ครม.มีมติเปลี่ยนแปลงให้รับภาระชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วง 3 ปีแรก(ปี 2546-2549) พอมาถึงปี 49 ครม.มีมติให้ยืดระยะเวลาออกไปเป็น 5 ปี(ปี 2550-2554) และเมื่อปี 53 ครม.มีมติขยายเวลาต่ออีก 5 ปี(ปี 2555-2559)

ทั้งนี้ รฟม.มีภาระหนี้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2537-2583 ทั้งหมดราว 1.62 แสนล้านบาท ซึ่งหากคำนวณถึงวันที่ 31 ส.ค.58 จะมีหนี้สินจากโครงการเดิม 4.6 หมื่นล้านบาท และโครงการใหม่และส่วนต่อขยายอีก 7 หมื่นกว่าล้านบาท โดยรัฐบาลจะเข้ามาช่วยรับภาระหนี้แทน รฟม.เป็นรายปีไปตามภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 2.67 หมื่นล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบตามที่ รฟม. เสนอขอขยายเวลาการชำระคืนหนี้เงินกู้ ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้างและค่าจ้างที่ปรึกษา โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามมติครม.เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2553 ออกไปอีก 7 ปี (2560-2567) คิดเป็นวงเงิน 26,700 ล้านบาท (แบ่งเป็นเงินต้น 17,464 ล้านบาท ดอกเบี้ย 9,236 ล้านบาท โดยทางสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณรายปีให้ เนื่องจากการประมาณการณ์รายได้ของ รฟม.ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 ยังต่ำกว่าประมาณการณ์โครงการ โดย รฟม.ประเมินว่า หากโครงข่ายรถไฟฟ้าในกทม.และปริมณฑล เชื่อมต่อกันมากขึ้น ในอนาคต ทั้ง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานครมีมูลหนี้รวม 162,715 ล้านบาท (2537-2583) โดยการชำระหนี้ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2558 มีมูลหนี้เงินกู้ค่าออกแบบ ค่าก่อสร้าง ค่าที่ปรึกษาโครงการที่ยังคงเหลือ 46,185 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) อย่างไรก็ตาม รฟม.ประมาณการณ์ว่าในปี 2567 จะมีรายได้ 5,047 ล้านบาท มีรายจ่ายรวมค่าดอกเบี้ย ค่าใช้คืนเงินกู้ 4,817 ล้านบาท มีกำไร 230 ล้านบาท

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบตามที่ รฟม. เสนอขออนุมัติปรับหลักการเกณฑ์การคำนวณค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเดิมโครงการนี้ใช้แหล่งเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือไจก้า จากประเทศญี่ปุ่น ดั้งนั้น ขั้นตอนการประกวดราคาและการทำสัญญาจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ตามแหล่งเงินกู้ ต่อมามีมติครม.ปี 2552 ได้เปลี่ยนแปลงแหล่งเงินกู้จากไจก้า เป็นแหล่งเงิภายในประเทศ ทำให้มีการปรับมาใช้หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเค ตามกรมบัญชีกลาง โดยรฟม.ได้เสนอ ยกเว้นมติครม.ปี 2552 โดยขอใช้เกณฑ์การคำนวณค่าเค ตามหลักการประมูลนานาชาติ ซึ่งจะใช้ค่าเค ก่อนการยื่นซองประมูล 28 วัน ทำให้ประหยัดค่าเค ได้ถึง 198 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ