ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลยืนยันให้รัฐเปลี่ยนราคารับซื้อเป็น FiT จาก Adder หวั่นปิดกิจการหลังขาดทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2016 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล นัดประชุมเป็นครั้งแรกในวันนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ได้เรียกร้องให้ภาครัฐปรับราคารับซื้อไฟฟ้าของกลุ่มที่ยังคงมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า(Adder) เปลี่ยนเป็นการใช้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) เนื่องจากค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที)ที่ปรับลดลง กระทบต่อรายได้ของกลุ่มผู้ประกอบการให้ลดลง ขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง และอาจจะต้องปิดกิจการในที่สุด ขณะที่บางรายก็ได้ขายธุรกิจให้กับบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าเพื่อดูแลกิจการต่อไป

นายประธาน ริจนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี และผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอเวอร์กรีน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล กล่าวว่า วันนี้คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อให้มาแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้นัดประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการยังคงมีข้อเรียกร้องเดิมเพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนการรับซื้อจากผู้ที่มีสัญญารับซื้อระบบ Adder เดิมมาเป็นระบบ FiT เหมือนกันทุกรายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ประกอบกับการใช้ระบบ Adder เดิมนั้น ปัจจุบันประสบกับภาวะขาดทุนทุกเดือนตามค่าเอฟทีที่ปรับลดลง

เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Adder มีค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.10 บาท/หน่วย รวม adder อีกในอัตรา 30 สตางค์/หน่วย เป็นเวลา 7 ปี และผู้ประกอบการ FiT จะมีรายได้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.24 บาท/หน่วย รวมกับพรีเมียม อีก 30 สตางค์/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี โดยสูตรราคาในระบบ Adder ไม่ได้อิงกับต้นทุนที่แท้จริง แต่ยังอิงกับค่าเอฟทีด้วย โดยค่าเอฟทีที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้รายได้ที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าระบบ Adder ลดลงด้วย ท่ามกลางภาวะราคาเชื้อเพลิงและแรงงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดทุนราว 6 ล้านบาท/เดือน จากโรงไฟฟ้าขนาด 9.8 เมกะวัตต์ และทำให้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในระบบนี้ต้องหยุดการผลิตไฟฟ้าในบางช่วง และในอนาคตหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะต้องหยุดกิจการ ขณะที่บางรายก็ได้มีการขายกิจการให้กับบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่สามารถหาแหล่งเงินทุนในการดำเนินการได้ในระดับที่ต่ำกว่า

สมาชิกของสมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัจจุบันมีอยู่ราว 206 ราย มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ โดยเป็นผู้ประกอบการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบบ Adder จำนวน 111 ราย ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบบ FiT


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ