ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยดีสุดในรอบ 6 ปี รัฐปราบปรามเข้มงวด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2016 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (CSI) พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ 55 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ดีขึ้นจากปี 57 ที่มี 49 คะแนน และดีที่สุดในรอบ 6 ปีนับจากการสำรวจครั้งแรกในปี 53 ที่มีเพียง 35 คะแนน

(0 คะแนน หมายถึงปรับตัวแย่ลงมากที่สุด, 100 คะแนน หมายถึงปรับตัวดีที่สุดถึงไม่มีปัญหาเลย)

ผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 52 คะแนนเท่ากับเดือนมิ.ย.58 แต่เพิ่มขึ้นจากปี 57 ซึ่งอยู่ที่ 47 คะแนน ขณะที่ดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย อยู่ที่ 57 คะแนน ลดลงจาก 58 คะแนนในเดือนมิ.ย.58 แต่เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่มี 50 คะแนน

ในด้านความรุนแรงของปัญหา ส่วนใหญ่ตอบปัญหารุนแรงเพิ่มขึ้น 44% ลดลง 30% และเท่าเดิม 26% ใกล้เคียงกับการสำรวจเมื่อเดือนมิ.ย.58

"แต่ในภาพรวมทั้งปี 58 ถือว่าความรุนแรงของปัญหาน้อยที่สุดนับจากเริ่มการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 53 หรือรุนแรงน้อยสุดในรอบ 6 ปี ส่วนการคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาในปีหน้า ก็ดีที่สุดในรอบ 6 ปีเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ตอบความรุนแรงของปัญหาจะลดลง ขณะเดียวกัน คนไทยมีจิตสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชั่นมากขึ้น และองค์กรอิสระทำหน้าที่อย่างเข้มงวด และโปร่งใสมากขึ้น"

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อถึงความเสียหายของการทุจริตที่ประเมินจากงบประมาณ ประเภทจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ถึง 46% ระบุไม่จ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ/นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา อีก 45% ตอบไม่ทราบ และ 9% ตอบจ่าย โดยจำนวนเงินที่จ่ายลดลงเหลือเพียง 1-15% ของรายรับ จากการสำรวจครั้งแรกปี 53-56 ที่จ่ายมากถึง 25-35% เดือนมิ.ย.57 จ่ายที่ 15-25% และเดือนธ.ค.57 จ่ายที่ 5-15%

"งบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 58 ที่ 1.074 ล้านล้านบาท ถ้าจ่ายเงินพิเศษ 1-15% จะมีมูลค่าความเสียหายจากคอรัปชันที่ 53,715-161,145 ล้านบาท คิดเป็น 0.39-1.18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากปี 57 ที่จ่ายเงินใต้โต๊ะ 15-25% หรือราว 150,763-251,272 ล้านบาท หรือ 1.15-1.91% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินสินบน เงินใต้โต๊ะลดลงทุก 1% จะทำให้เงินจากการคอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านบาท"

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 58 ผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยที่ 10% คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญเสีย 100,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เพราะประชาชน และเอกชนร่วมมือจริงจับในการต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ,ข้าราชการเกรงกลัวมาตรา 44, ธุรกิจสีเทาหรือผู้มีอิทธิพลลดลงมาก, องค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่อย่างเข้มงวด จนทำให้การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 58 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ไทยได้ 38 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก จากปี 57 ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 85

สาเหตุของการคอร์รัปชัน คือ กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก, กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต, ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย, ผลประโยชน์ทางการเมือง และความล่าช้าหรือยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยบ่อยสุด คือ การเอื้อประโยชน์แก่ญาติหรือพรรคพวก, ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว, การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ, การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อประโยชน์แก่พรรคพวก และการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในภายหลัง

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ได้สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และข้าราชการ/ภาครัฐ รวม 2,400 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อเดือน ธ.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ