รัฐผลักดัน National e-Payment วางเป้าหมายพร้อมใช้ใน 1 ปีครึ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 5, 2016 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน National e-Payment ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ได้วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนการใช้ระบบ National e-Payment ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปีครึ่ง ภายใต้การวางเป้าหมายของแผนงาน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงินของประเทศ 2. การทำให้การจัดเก็บภาษีของภาครัฐเพิ่มขึ้น และการหลบเลี่ยงภาษีลดน้อยลง

3. การให้สวัสดิการของภาครัฐอย่างตรงเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย 4. การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น และ 5. การลดการใช้เงินสดในระบบให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตธนบัตร ภายใต้การปฏิบัติงาน 5 แผนงาน ได้แก่ 1.โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID 2. โครงการการขยายการใช้บัตร 3.โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 4. โครงการ e-Payment ภาครัฐ และ 5. โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าวขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วย คณะที่ 1 มีนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเรื่องโครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID และการขยายการใช้บัตร คณะที่ 2 มีนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเป็นประธาน ดูแลเรื่องโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คณะที่ 3 มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ดูแลเรื่องโครงการ e-Payment ภาครัฐ และคณะที่ 4 ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานเช่นกัน โดยจะดูแลเรื่องการให้ความรู้ การส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ

"ได้มีการวางเป้าหมายในช่วง 6 เดือนแรก โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID ต้องจบ ซึ่งเบื้องต้นวางแผนว่าจะสามารถเปิดลงทะเบียนประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ก่อนที่ระบบของสถาบันการเงินในส่วนนี้จะแล้วเสร็จอย่างน้อยไม่เกินเดือน ก.ย.นี้ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนั้น นายสมคิด ต้องการให้ทุกกระบวนการเดินไปพร้อมๆ กัน แต่หากกระบวนการไหนจะจบได้ก่อน ก็ให้ทำได้เลยไม่ต้องรอ" รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ได้มีการประเมินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการเพื่อรองรับระบบ National e-Payment ในส่วนของรัฐบาลทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท ขณะที่การดำเนินงานในส่วนของภาคเอกชนนั้นจะใช้งบประมาณของเอกชนเอง แต่ทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างสูงที่สุด โดยในส่วนของค่าธรรมเนียมยังอยู่ระหว่างการหารือกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้ความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน โดยค่าธรรมเนียมจะต้องต่ำที่สุดและให้สอดคล้องกับการชำระเงินในชีวิตประจำวันของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงอัตราการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นที่ 20 บาทต่อรายการ พร้อมทั้งยังได้วางเป้าหมายในการขยายจุดบริการเครื่องที่ใช้สำหรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านจุด จากปัจจุบันมีเครื่องที่สามารถรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ได้ 3 แสนเครื่อง แต่มีจุดบริการเพียง 1 แสนจุด เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ