TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% จับตาหากผลโหวตไม่เอกฉันท์อาจมีเงินไหลเข้าเพิ่ม-บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2016 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดที่ประชุม กนง.ในวันพุธนี้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 ลงเพื่อขยายโอกาสที่ ธปท.จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ขณะที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/58 ของสหรัฐฯ ในการรายงานครั้งสุดท้ายวันศุกร์นี้จะออกมาที่ระดับ 1.1% เพิ่มขึ้นจากรายงานครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยเนื่องจากการลงทุนในที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้น

"สัปดาห์นี้ผลการประชุม กนง.จะเป็นสิ่งที่ผู้ค้าในตลาดเงินจับตามองมากที่สุด แม้ว่า ธปท.อาจยัง “คง" ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% อยู่ แต่ถ้าผลการโหวตออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการไหลเข้าของเงินลงทุนเพื่อมาเก็งกำไรบนการลดดอกเบี้ยต่อซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นได้ สำหรับสัปดาห์นี้เราคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะซื้อขายในช่วง 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์ โดยยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ การประชุม กนง.ในวันพุธและจีดีพีของสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์จะเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจมากที่สุดในสัปดาห์นี้ โดยสัปดาห์นี้คาดการณ์กรอบค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.95 บาท/ดอลลาร์ และคาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.8-2.0%

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดเป้าหมายการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ลงเหลือเพียงสองจากสี่ครั้ง และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25-0.50% และปรับลดประมาณการค่ากลางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2016 ลงจาก 1.375% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 0.875% ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังมีมติคงปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ในการประชุมครั้งล่าสุด

สำหรับค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากภายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก 35.09 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ระดับ 34.8 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นวันศุกร์ ซึ่งปัจจัยกดดันตลาดเงินอยู่คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยลง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น และเงินทุนยังไหลเข้าตลาดพันธบัตร โดยทั้งหมดส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจากระดับ 1.94% มาที่ระดับ 1.87% ส่วนบอนด์ยิลด์ไทยอายุ 10 ปีก็ปรับตัวลงจากระดับ 1.83% มาอยู่ที่ระดับ 1.77% หรือปรับตัวลดลง 6bps เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยิลด์ไทยอยู่คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐออกมาปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยลง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น และความคาดหวังของตลาดว่า ธปท. อาจจะลดดอกเบี้ยลงเร็วๆ นี้ โดยทั้งหมดส่งผลให้เงินทุนยังไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง

"เรามองว่าถ้าสภาวะเหล่านี้ยังคงอยู่ ปริมาณความต้องการตราสารหนี้ก็จะยังอยู่ในระดับสูงทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนในประเทศ ในสัปดาห์นี้เราคาดว่าการประชุม กนง. อาจเป็นปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนในตลาด เนื่องจากบอนด์ยิลด์อยู่ในระดับต่ำมาก ถ้าผลการประชุม กนง. ออกมา “คง" ดอกเบี้ย ด้วยมติเอกฉันท์ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะเกิดแรงขายบอนด์ตัวสั้นจากนักลงทุนต่างชาติออกมา ขณะที่ถ้าผลการประชุมออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแรงซื้อเก็งกำไรในตราสารหนี้ไทยต่อไป โดยเราคาดว่ายิลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10ปี จะอยู่ในช่วง 1.70-2.00% ในสัปดาห์นี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ด้านมุมมองตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ +2.4% ในสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ระดับ 41.35 ดอลลาร์/บาเรลล์ โดยราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตที่เริ่มลดลงในสหรัฐฯ และเราเชื่อว่าราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยสิ่งที่ต้องจับตาคือปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ควรจะลดลงตามกำลังการผลิต ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะนำไปสู่การขยับขึ้นของราคาน้ำมันที่ชัดเจน ในช่วงสัปดาห์นี้เราคาดว่าราคาน้ำมันจะซื้อขายในกรอบ 39-45 ดอลลาร์/บาเรลล์ ด้านราคาทองปรับตัวลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ระดับ 1,255 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยในระยะกลางน่าจะยังได้รับแรงหนุนจากที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ออกมากำหนดดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งถ้ากระแสการผ่อนคลายนโนบายดอกเบี้ยยังเป็นเช่นนี้ ราคาทองก็ยังมีโอกาสที่จะยืนในระดับสูงต่อได้ โดยเราคาดว่าราคาทองจะซื้อขายในกรอบ 1245-1300 ดอลลาร์/ออนซ์ในสัปดาห์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ