(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 8.29 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 8.29 หมื่นล้านบาท โดยครม.ได้เร่งรัดการประมูลงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มให้แล้วเสร็จในมิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินก่อสร้าง, ค่าจ้างที่ปรึกษา รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด จำนวน 82,907 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่ตั้งวงเงินไว้ 85,483 ล้านบาท และเมื่อรวมกับค่าจัดการกรรมสิทธ์ที่ดินอีก 9,625 ล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.58 รวมแล้วโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีวงเงินลงทุนรวม 92,532 ล้านบาท โดยเป็นการปรับฐานราคาวัสดุให้เป็นปัจจุบัน (พ.ย.58) จากเดิมใช้ปี 56, ลดวงเงินสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง, ยกเลิกการใช้ฝ้า (ใต้หลังคาที่ชั้น Platform) ทั้งหมด และเปลี่ยนผนังภายในจากหินแกรนิตเป็นกระเบื้อง

"รฟม.ได้ทำราคากลางมาระดับหนึ่ง หลังจากนี้ รฟม.เร่งทำเรื่องราคากลาง ก็คิดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้" รมว.คมนาคมกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ราวเดือน ก.พ.60 แล้วเสร็จพ.ค.65 และกำหนดเปิดเดินรถในเดือน มิ.ย.65 โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีระยะทาง 21.2 กม. เป็นส่วนใต้ดิน 12.2 กม. และส่วนยกระดับ 9 กม. มีจำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

นายอาคม กล่าวว่า ส่วนงานเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ คาดว่าคณะกรรมการ PPP จะเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในช่วงต้นพ.ค.นี้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการมาตรา 13 ได้นำเสนอต่อครม.ถึงผลการเจรจาการเดินรถ 1 สถานี คือ สถานีเตาปูน-บางซื่อ กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งได้เพิ่มเป็น 2 ปี จาก 1 ปี อย่างไรก็ดี ครม.ให้กลับไปเจรจาใหม่ เนื่องจากต้องการให้การเดินรถ 1 สถานีดังกล่าว มีระยะเวลาเดินรถสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2572

ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายใต้กรอบวงเงิน 82,907 ล้านบาท ซึ่งลดลงราว 2,600 ล้านบาทจากกรอบวงเงินเดิม ซึ่งมองว่าสมเหตุสมผล และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ