(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ. 3 ฉบับตามที่ไอซีทีเสนอ หนุนนโยบายดิจิตอลอีโคโนมี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2016 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ที่กระทรวงฯ เสนอรวม 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และและร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประชุมกิจการวิทยุกระจ่ายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ....เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นั้นจะเป็น พ.ร.บ.หลักที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนดิจิตอลของประเทศ ทำให้เกิดคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการ 12 คน มีหน้าที่จัดทำนโยบายแนวทางการดำเนินการเรื่องดิจิตอลเพือเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างไรเพื่อเสนอแนะต่อ ครม.

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม) ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าพนักงานจะได้ทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เนื่องจากระยะหลังมีการกระทำความผิดในรูปแบบที่มีการพัฒนาไปมาก เช่น หลอกลวง ฉ้อโกง ปลอมแปลง ข้อมูลเป็นเท็จ ร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงนี้จะครอบคลุมชัดเจนขึ้น

ส่วนร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กสทช.ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดให้มีการลดองค์ประกอบของ กสทช.จากเดิม 11 คน เหลือ 7 คน เพราะจะเหลือ กสทช.คณะเดียว ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และยกเลิกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รวมทั้งแก้ไขคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหาแต่งตั้งเป็น กสทช.เรื่องอายุเป็นไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปี จากเดิมไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่เกิน 70 ปี

"กสทช.ชุดนี้จะยังอยู่จนกว่าจะมีการสรรหาใหม่" นายอุตตม กล่าว

นอกจากนั้นยังกำหนดกระบวนการได้มาและยกเลิกวิธีการคัดเลือกกันเอง และ ให้ กสทช.มีอำนาจเรียกคลื่นความถี่ที่ได้มีการอนุญาตให้ใช้ไปแล้วกลับคืนมาได้โดยพิจารณาให้มีการชดเชยผู้ที่ได้รับการใช้คลื่นความถี่นั้นๆ หรือ refarming

ทั้งนี้ให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาส่งต่อให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ