กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์เฟสแรกเป็นทางการ ขณะที่กลุ่มสหกรณ์บางส่วนทยอยฟ้องศาลฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 26, 2016 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ผ่านการพิจารณาอย่างเป็นทางการในโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ และได้รับสิทธิในการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จำนวน 67 ราย รวม 281.32 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังมีกลุ่มสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการบางส่วนทยอยเดินทางไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้การคัดเลือกครั้งนี้เป็นโมฆะ หลังมองว่าการดำเนินโครงการไม่มีความโปร่งใส ขณะที่รัฐบาลเชื่อว่าการดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกกพ. ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่ผ่านคุณสมบัติด้วยวิธีจับสลาก สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์) และได้ประกาศไปเบื้องต้นแล้วนั้น คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการการตรวจสอบแล้วนำเสนอ กกพ. เห็นชอบ และได้มีประกาศกกพ.อย่างเป็นทางการในวันนี้

โดยมีรายชื่อเจ้าของโครงการสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ผ่านการพิจารณา รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 รายกำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ และมีผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีจับสลาก จำนวน 100 ราย จากจำนวนที่เข้าสู่การคัดเลือกโดยวิธีจับสลาก จำนวนทั้งหมด 167 ราย โดยการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในครั้งนี้ จะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้เกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท

สำหรับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแบ่งตามพื้นที่ประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีจำนวน 61 ราย กำลังการผลิตรวม 259.67 เมกะวัตต์ ได้แก่ ภาคกลาง 25 ราย รวม 108.2 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันออก 17 ราย รวม 70.47 เมกะวัตต์ , ภาคเหนือ 1 ราย รวม 5 เมกะวัตต์ และภาคตะวันตก 18 ราย รวม 76 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีจำนวน 6 ราย กำลังการผลิตรวม 21.65 เมกะวัตต์

"จำนวนโครงการสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 100 ราย เหตุผลที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่ ก็เนื่องมาจากจำนวนโครงการที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า (Station) หรือกำลังการผลิตติดตั้งที่เสนอขายมีขนาดเกินกว่าศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้า (Station) โดยผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกสามารถมารับเอกสารคืนภายหลัง 30 วันนับจากวันที่ 26 เม.ย. นี้ เป็นต้นไป"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการจะมีอายุสัญญา 25 ปี และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย ซึ่งจะต้องดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 โดยเจ้าของโครงการหรือผู้สนับสนุนโครงการจะต้องมายื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า เพื่อลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งกฟภ. หรือ กฟน.ภายใน 120 วันนับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า หากไม่มีการลงนามในสัญญาฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ห้ามมิให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้าหรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น

ด้านนายกิตติพันธ์ ยวนทอง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ภาคการเกษตร 1-2 แห่งที่ตนเองให้การสนับสนุนนั้นได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้วในวันนี้ เพื่อขอให้การจับสลากโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ เพราะการจับสลากไม่มีความโปร่งใส และการยกเว้นบังคับใช้ผังเมืองไม่น่าจะมีผลย้อนหลังในการพิจารณาคุณสมบัติผู้ผ่านเข้าไปมีสิทธิจับสลาก และหลังจากนี้คาดว่าจะมีสหกรณ์ภาคการเกษตรอีกหลายแห่งทยอยเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ