ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้การยืดระยะเวลาลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ช่วยให้รายย่อยมีเวลาปรับตัว-วางแผนการออมได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2016 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประกาศเลื่อนลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากออกไปในรอบนี้ สะท้อนเจตนารมณ์ของภาครัฐในการคุ้มครองผู้ฝากเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ฝากเงินโดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยสามารถทยอยปรับตัวเพื่อรองรับกับวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 1 ล้านบาทได้อย่างมีความพร้อม ทั้งนี้ หากย้อนมองอดีตจะพบว่าการตัดสินใจในลักษณะคล้ายกันนี้ เคยปรากฏขึ้นแล้วในปี 2552 (หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐฯในปี 2551) และปี 2555 (หลังจากที่ไทยเพิ่งผ่านเหตุมหาอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2554) โดยในปี 2555 นั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อยืดระยะเวลาการคงวงเงินคุ้มครองเงินฝากไว้ที่ 50 ล้านบาทออกไปอีก 3 ปี จนถึง 10 สิงหาคม 2558 ในระหว่างที่เศรษฐกิจไทยกำลังทยอยฟื้นตัว

ส่วนในปี 2559 นี้ อาจกล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์ของการยืดระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 15 ล้านบาทออกไปจนถึงปี 2561 (กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559) ก่อนทยอยลดลงสู่ 1 ล้านบาทภายในปี 2563 คงมุ่งเน้นโจทย์ด้านการสร้างวินัยทางการเงินและการเพิ่มทางเลือกทางออมให้ผู้ฝากเงินเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับวงเงินคุ้มครองใหม่ที่ระดับ 1 ล้านบาทเป็นหลัก เพราะแม้ว่าผู้ฝากเงินบางส่วนจะมีการโยกย้ายเงินออมสู่ช่องทางการออมอื่นๆ มากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง

"การตัดสินใจทยอยลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากสู่ระดับ 1 ล้านบาทภายในปี 2563 จากเดิมที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 นี้ สะท้อนเจตนารมณ์ของภาครัฐในการคุ้มครองผู้ฝากเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ฝากเงินโดยเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยสามารถทยอยปรับตัวเพื่อรองรับวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 1 ล้านบาท ได้อย่างมีความพร้อม" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ขณะที่ ผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงลงทุนในผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นหลัก เพราะถือเป็นหนึ่งในช่องทางการออมที่ปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งผู้ฝากรายย่อยยังมีทางเลือกในการออมเงินค่อนข้างจำกัดกว่าผู้ฝากเงินประเภทอื่นๆ ซึ่งการยืดระยะเวลาลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากออกไปอีกระยะหนึ่งนั้นนั้น คงจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ฝากเงินรายย่อยสามารถเข้าถึงและจัดสรรเงินออมสู่ผลิตภัณฑ์ทางการออมอื่นๆ ได้เพิ่มเติมจากปัจจุบัน และช่วยให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ผู้ออมได้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนั้น อีกหนึ่งในวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ การลดภาระทางการคลังในการเข้าช่วยเหลือผู้ฝากเงินหากเกิดปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินขึ้น ดังเช่นเคยเกิดในปี 2540 โดยสถาบันการเงินมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเพื่อใช้คุ้มครองผู้ฝากเงินในยามวิกฤต

"ระดับการคุ้มครองเงินฝากของไทยที่สูงกว่าหลายประเทศ และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินไทย คงช่วยทำให้ผู้ฝากเงินเชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัยของเงินออมทุกบาททุกสตางค์ที่สถาบันการเงินไทย ในระหว่างที่ภาครัฐกำลังเดินเครื่องเต็มที่ในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า การยืดระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากออกไปนั้น คงจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของธนาคาร แต่คงช่วยลดแรงกดดันเกี่ยวกับการโยกย้ายเงินฝากของกลุ่มลูกค้าระดับสูงและความเข้มข้นในการแข่งขันด้านราคาเงินฝากเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้าระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ให้ลดทอนลงจากเดิม ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไปคงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก อาทิ ความก้าวหน้าของสินเชื่อ ทิศทางสภาพคล่องของตลาดการเงิน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศแกนหลัก

สำหรับเงินฝากในระยะที่เหลือของปี 2559 นี้ คาดว่าอาจเติบโตในระดับต่ำต่อเนื่องไม่เกิน 2% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2559 ในจังหวะที่ผลตอบแทนจากทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ ยังดีกว่าเงินฝาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เงินฝากคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากสินเชื่อที่น่าจะขยายตัวชัดเจนขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ การที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าจะมีผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินบาท อันจะกดดันราคาตราสารหนี้และมีผลให้การลงทุนระยะสั้นถึงปานกลางในช่องทางดังกล่าวทั้งทางตรงและผ่านกองทุนรวม มีความได้เปรียบเงินฝากลดลง ตลอดจนทำให้เงินฝากยังเป็นแหล่งที่พักเงินที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ดังนั้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ผลรวมของเงินฝากและตั๋วแลกเงิน จะมีโอกาสจบปีด้วยอัตราการขยายตัวที่ 3% เทียบกับตัวเลขเบื้องต้นที่ 1.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 และ 1.4% ณ สิ้นปี 2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ