นักวิชาการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงาน 10 ประการให้รัฐบาลพิจารณา

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 1, 2016 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยสถานการณ์แรงงานขณะนี้ยังมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แม้ตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม ณ เดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 123,087 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 25% ก็ตาม แต่ภาพรวมอัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด

ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในบางภาคการผลิตเนื่องจากแรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศโดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเมียนมา หลังจากประเทศเมียนมาเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูง สถานการณ์การเลิกจ้างล่าสุดยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี และส่วนใหญ่เมื่อมีการเลิกจ้างแล้ว ผู้ใช้แรงงานสามารถหางานทำได้ในเวลาไม่นานนัก

การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานวิชาชีพที่มีการเคลื่อนย้ายโดยเสรี แรงงานวิชาชีพไทย 8 สาขาที่มีการเปิดเสรีแข่งขันกับแรงงานในภูมิภาคได้ ยกเว้นสาขาบัญชี การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลทำให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้น 0.01% เกิดผลบวกต่อภาคบริการและอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ได้รับผลบวกต่อสวัสดิการโดยรวมของสังคม ทำให้ตัวแปรสวัสดิการเพิ่มขึ้น 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา แต่ข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขายังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญนัก เนื่องจากในแต่ละวิชาชีพจะเข้าไปทำงานในประเทศอื่นๆยังคงต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และกติกาของสาขาวิชาชีพนั้นๆในแต่ละประเทศที่มีข้อจำกัดอยู่มาก ยังต้องมีการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียนมีความเป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางด้านภาษายังคงเป็นอุปสรรคของแรงงานไทยในการไปทำงานในประเทศอื่นๆ

โดยผลงานวิจัยของสำนักงานสนับสนุนการวิจัยพบว่า ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานมีทักษะระหว่างประเทศของไทย แรงงานมีทักษะของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายออกไปทำงานที่สิงคโปร์เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 4.98% และมาเลเซียเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2.14% และย้ายไปทำงานประเทศอื่นๆในอาเซียนลดลง ขณะที่ไทยจะเป็นผู้รับแรงงานทักษะเพิ่มขึ้นจากอาเซียนอื่นๆเพิ่มขึ้น 4.48%

นายอนุสรณ์ คาดว่า หากมีการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำหรือไม่มีทักษะเพิ่มเติมภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นผลดีต่อไทยโดยภาพรวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การผลิต การบริการและสวัสดิการสังคมโดยรวม เพราะไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานอยู่และต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทำงานมากกว่า 3 ล้านคน การเปิดเสรียังลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จึงช่วยลดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันได้ระดับหนึ่ง

"ไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิแรงงานซึ่งต้องเร่งแก้ไข ส่วนหนี้สินของผู้ใช้แรงงานปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีเป็นผลมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิตและการก่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ มีช้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 10 ประการ ได้แก่ 1.ขอให้ปฏิรูประบบกฎหมายแรงงาน โดยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง 11 ฉบับเพื่อจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงานและพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานทั้งระบบ โดยยึดหลักการ 6 ประการ คือ หลักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือหลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาค หลักความเป็นธรรม หลักความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน หลักผลิตภาพแรงงานและความสามารถในการแข่งขัน หลักการมีส่วนร่วมผ่านระบบไตรภาคี

2.ขอให้มีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำผ่านระบบไตรภาคี โดยปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 340-360 บาทวัน

3.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมกัน ซึ่งทั่วโลกถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

4.ขอให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนสถานะของ “สำนักงานประกันสังคม" จากหน่วยราชการ เป็น องค์กรมหาชนที่บริหารงานโดยมืออาชีพและผู้แทนของสมาชิกองทุนประกันสังคม

5.ขยายสิทธิผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการและรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ รวมทั้งขยายสิทธิไปยังสมาชิกในครอบครัว แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม

6.เพื่อลดการบิดเบือนจากการเบิกจ่ายจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน รัฐบาลควรปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนให้สูงกว่ากองทุนประกันสังคม และควรยกสถานะ สำนักงานกองทุนเงินทดแทน เป็น หน่วยงานระดับกรม โดยรวมเอางานของสำนักปลอดภัยแรงงานเข้ามาอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน

7.ด้านคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน หรือกองทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ควรให้ระบบคะแนนเสียงถ่วงน้ำหนักในการคัดเลือกตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างที่เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อให้ได้ตัวแทนนายจ้างที่เป็นตัวแทนของนายจ้างส่วนใหญ่ และ ตัวแทนลูกจ้างที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

8.ควรส่งเสริมระบบบริการที่เน้นป้องกันโรคและอันตรายจากการทำงาน จัดสรรงบเพิ่มเติมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันอันตรายของแรงงาน

9.การนำเงินกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนไปใช้ลงทุนในบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจใดๆ หรือ โครงการใดๆของรัฐบาล ต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจที่โปร่งใสและกรรมการกองทุนประกันสังคมต้องตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ อย่างมืออาชีพบนผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ต้องมีนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ผันแปรตามผู้มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละรัฐบาล

10.ขอให้เร่งรัดในการแก้ไขปัญหาแรงงานทาสและจัดระเบียบการจ้างงานแบบเหมาช่วงให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงปัญหาหนี้สินของผู้ใช้แรงงานว่า รัฐบาลควรใช้ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะธนาคารออมสินจัดตั้ง โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ใช้แรงงาน หรือ ใช้โครงการธนาคารประชาชนซึ่งมีอยู่แล้ว ลดการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและลงทุนเพื่อประกอบอาชีพเสริมได้ ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนักและมีการพิจารณาลดการทำงานล่วงเวลาของสถานประกอบการต่างๆ ทำให้รายได้ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลควรจัดให้มีโครงการเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถประกอบอาชีพเสริมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ