กบง.มีมติราคาLPG เดือนพ.ค.ที่ระดับ 20.29 บ./กก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 2, 2016 18:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน

การทบทวนราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG โดยใช้ต้นทุนจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักทุกๆ 3 เดือน เพื่อใช้เป็นราคาต้นทุนก๊าซ LPG ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2559 สรุปดังนี้

โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 14.9701 บาท/กก.ปรับตัวลดลง 0.4841 บาท/กก. จาก 15.4542 บาท/กก. เนื่องมาจากราคาเนื้อก๊าซและค่าเชื้อเพลิงในการผลิตที่ปรับตัวลดลง โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและโรงอะเมติก คงเดิมที่ CP-20 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

การนำเข้า คงเดิมที่ CP+85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปตท.สผ. อยู่ที่ 15.10 บาท/กก. ปรับลดลง 0.20 บาท/กก. จาก 15.30 บาท/กก. เนื่องมาจากค่าดำเนินการที่ปรับลดลง

สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG เดือนพฤษภาคม ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) อยู่ที่ระดับ 347 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 15 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่ราคาต้นทุนในประเทศจากโรงแยกก๊าซฯ และ ปตท.สผ. อยู่ที่ 425 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และ 428 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน หรือปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 11.94 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และ 3.8964 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ

โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนเมษายนแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1449 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.2582 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ปรับลดลง 0.1196 บาท/กก. จากเดิม 14.0285 บาท/กก. เป็น 13.9089 บาท/กก. แต่เนื่องจากราคาต้นทุนโดยรวมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก และเพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนพฤษภาคม 2559 ไว้ที่ 20.29 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 0.1196 บาท/กก. จากเดิมชดเชย 0.7095 บาท/กก. เป็นชดเชยอยู่ที่ 0.5899 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป

ซึ่งผลจากการปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายอยู่ที่ 213 ล้านบาท/เดือน ลดลง 43 ล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 อยู่ที่ประมาณ 44,815 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) บัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,623 ล้านบาท และ (2) บัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,192 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้เห็นชอบให้คงประกาศกำหนดราคาขายส่งก๊าซ LPG ณ คลังก๊าซภูมิภาคต่อไปอีก เพื่อกำกับดูแลราคาก๊าซ LPG ณ คลังภูมิภาค และให้ผู้ประกอบการที่รับก๊าซจากคลังภูมิภาคที่เคยได้รับการชดเชยมีเวลาในการปรับตัว ส่งผลให้ราคาขายส่งก๊าซ LPG (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ณ คลังก๊าซภูมิภาค เป็นดังนี้

คลังก๊าซจังหวัดชลบุรี กิโลกรัมละ 15.7060 บาท

คลังก๊าซจังหวัดนครสวรรค์ กิโลกรัมละ 16.7160 บาท

คลังก๊าซจังหวัดลำปาง กิโลกรัมละ 17.7160 บาท

คลังก๊าซจังหวัดขอนแก่น กิโลกรัมละ 17.1090 บาท

คลังก๊าซจังหวัดสุราษฎร์ธานี กิโลกรัมละ 16.0417 บาท

คลังก๊าซจังหวัดสงขลา กิโลกรัมละ 16.0621 บาท

แผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ครม.เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีมติเห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง โดยในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) (ส่วนที่ 2) เห็นชอบกรอบโครงการ จำนวน 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 65,500 ล้านบาท มอบหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมโดยให้คำนึงถึงแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคต ก่อนนำกลับมาเสนอให้ กบง.และ กพช.พิจารณาต่อไป

จากประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผน PDP 2015 ในปี 2579 อยู่ที่ ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดความล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน PDP 2015 กระทรวงพลังงานมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นประมาณ 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติของประเทศมีความพร้อมสำหรับรองรับความต้องการใช้และการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบปรับแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหา/นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Facilities) (ส่วนที่ 2) โดยมีกรอบโครงการหลักรวม 6 โครงการ ดังนี้

1.โครงการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของ Map Ta Phut LNG Terminal

2.โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง (แห่งที่ 2)

3.โครงการ FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบน

4.โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ (พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือ อ.มาบตาพุต จ.ระยอง)

5.โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ (แห่งที่ 3)

6.โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ (แห่งที่ 4) หรือ FSRU ที่ประเทศเมียนมาร์

ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง.ได้เห็นชอบโครงการใน ข้อ 1.–2.เพื่อนำเสนอต่อ กพช. พิจารณาต่อไป ส่วนโครงการในข้อ 3.–6.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนก่อนนำกลับมาเสนอ กบง. และ กพช. อีกครั้ง พร้อมมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ติดตามแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตอย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ