ภาวะตลาดเงินบาท: ปิดตลาด 34.93 อ่อนค่าตามภูมิภาค มองกรอบพรุ่งนี้ 34.85-35.00

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2016 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.93 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ ระดับ 34.85/86 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาค

"หลังเปิดตลาดแข็งค่าต่ำสุดของวัน เงินบาทก็ไต่ระดับมาปิดตลาดอ่อนสุดของวันที่ 34.93 บาท/ดอลลาร์ แต่ปริมาณซื้อ ขายเบาบาง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดยาว และยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.85-35.00 น.

"พรุ่งนี้เงินบาทน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 105.77 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 106.16 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1586 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1536 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,397.87 จุด ลดลง 6.74 จุด, -0.48% มูลค่าการซื้อขาย 33,879.61 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 439.74 ล้านบาท (SET+MAI)
  • นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม
ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยที่ประชุม กกร.เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงมีความเปราะบาง แต่เริ่มที่จะมีสัญญาณ
เชิงบวกบ้าง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนที่ดูเหมือนจะเริ่มนิ่งขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามที่
ตลาดคาด ในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย.ที่ผ่านมา
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน เม.ย.59 อยู่ที่
72.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.0 และดัชนี
ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.5 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ใน
ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.58 จากปัจจัยลบคือ ความกังวลปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการ
เกษตร และรายได้ของประชาชนในภูมิภาค กระทรวงการคลัง ปรับลดจีดีพีปี 59 เหลือ 3.3% ความกังวลความผันผวนของเศรษฐกิจ
โลก และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ในกรอบ 2.5-3.0% หรือมีค่ากลางที่ 2.8% ขณะที่ทั้งปียังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.0-3.5% ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้มาจากสถานการณ์การส่งออกที่ เริ่มฟื้นตัวขึ้นในเดือน ก.พ.และมี.ค.59 นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.59 ยังปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีกว่านับตั้งแต่ เดือน ม.ค.58

  • นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกใน
เดือน มี.ค.59 ยังได้รับอิทธิพลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงต่องเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากคิดมูลค่าการส่ง
ออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเท่ากับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จะทำให้การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.59 มีมูลค่าเท่ากับ 18,680.6
ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ หดตัว -1.05%
  • นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แสดงความกังวลว่า การแข็งค่าของสกุลเงินเยนอาจจะ
ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่ง BOJ อาจใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมหากมีสัญญาณว่า BOJ ประสบความยาก
ลำบากในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
  • ผลสำรวจของมาร์กิต เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ระดับ 49.2 ใน
เดือนเม.ย.ร่วงลงจาก 50.7 ในเดือนมี.ค. โดยหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี สวนทางการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่
คาดการณ์ว่าจะขยายตัวแตะ 51.2
  • ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 1.75% โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดภาวะเงินฝืดภายใน
ประเทศ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบรายปี
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำนั้นยังคงฉุดเงินเฟ้อให้อยู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ
ธนาคารกลาง โดยตัวเลขเดือนเม.ย.นั้นทรงตัวจากเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 1.0% เช่นกัน และเมื่อเทียบเป็นรายเดือนแล้ว ดัชนี
CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ปรับตัวลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค.

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานเดือนเม.ย. ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% เทียบรายปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 1.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ทรงตัวในเดือนก่อนหน้านั้น

  • สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซน โดยระบุถึงผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของราคา
น้ำมัน และการแข็งค่าของยูโร โดยคาดว่ายูโรโซนจะขยายตัว 1.6% ในปีนี้ ลดลง 0.1% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อ 3
เดือนก่อน ขณะที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% ในปีหน้า ลดลง 0.1% จากคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.2%
ในปีนี้ ก่อนที่จะดีดตัวแตะ 1.4% ในปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.5% และ 1.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังคาดการณ์
ว่า อัตราว่างงานในยูโรโซนจะลดลงจากระดับ 10.9% ในปีที่แล้ว สู่ระดับ 10.3% ในปีนี้ และสู่ 9.9% ในปีหน้า ขณะที่คาดว่าในปี
นี้ กรีซมีอัตราว่างงานสูงสุดที่ 24.7% สเปนอยู่ที่ 20% แต่เยอรมนีอยู่ที่ระดับ 4.6%

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ