แบงก์ออมสิน เผย Q1/59 กำไร 1.65 พันลบ. ทั้งปี 1.78 หมื่นลบ.-เตรียมเปิดตัวศูนย์วิจัยศก.ธุรกิจ-ฐานราก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2016 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกปี 59 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,656 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากธนาคารเริ่มจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจประมาณกว่า 800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.18% โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 14,041 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 1,129 ล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิคส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.3 ล้านบัตร บริการ Mobile Banking ภายใต้แบรนด์ "MyMo" มีถึงกว่า 540,000 ราย และ Internet Banking อีกกว่า 136,000 ราย และบัตรเครดิตธนาคารออมสินที่เพิ่งเปิดตัวไป มียอดสมัคร 11,000 บัตร

ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อยังคงขยายตัวจากสิ้นปี 58 แต่เนื่องจากเป็นช่วงการชำระคืนเงินกู้ของลูกหนี้รายใหญ่ทำให้สินเชื่อรวมลดลงสุทธิ 17,659 ล้านบาท โดยมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อเคหะ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน (โครงการเงินกู้ซอฟท์โลน) สินเชื่อเพื่อสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) และสินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ เป็นต้น โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ 31 มี.ค. 59 อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ลดลง 0.9% จาก 1.91 ล้านล้านบาท

ส่วน NPL ไตรมาส 1 นั้นเพิ่มขึ้นเป็นไปตาม Seasonal โดยในไตรมาส 2 คาดว่าจะทรงตัว และจะลดลงในช่วงไตรมาส 3-4

ขณะที่ในปี 59 ธนาคาร ตั้งเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อที่ 6-8% โดยหากไม่รวมสินเชื่อกลุ่มอาชีพ คาดว่าจะขยายตัว 6.6% และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 17,800 ล้านบาท และเงินฝากโต 4-6% โดยดูแลให้เป็นไปตามภาวะตลาด เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือประมาณ 3-4 แสนล้านบาท พอร์ตสินเชื่อ 1.9 ล้านล้านบาท

"ไตรมาสแรกของทุกปี สินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ได้เติบโตมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของปี และถึงแม้ว่าจะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 1 แสนล้านบาท แต่ก็มียอดสินเชื่อคงค้างติดลบไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่มาชำระคืนสินเชื่อด้วย" นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า ในปีนี้ธนาคารยังเดินหน้า e-payment ตามนโยบายรัฐบาล โดยจะออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในรูปแบบบัตรประชาชนผู้มีรายได้น้อย People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นได้ในอีก 2-3 เดือน รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่าน Mobile Banking: MyMo

อีกทั้ง อยู่ระหว่างรอมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องของการออกกฎหมายพิเศษสำหรับควบคุมการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะมีธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เข้ามาช่วย Implement ในเรื่องดังกล่าว

ด้านนายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเตรียมเปิด"ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก" โดยมีจุดมุ่งหมายเป็นหน่วยงาน Think Tank ด้านเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และสนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกด้านเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเล็งเห็นว่านโยบายรัฐบาลมุ่งเศรษฐกิจฐานราก แต่ยังไม่มี Indicators

ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้น ธนาคารได้ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้ามาช่วยในการออกแบบและพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาครายไตรมาสของธนาคารออมสิน เพื่อใช้ติดตามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ ขณะเดียวกันได้ออกแบบและจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index:GSI) ขึ้นมา นอกจากนั้นจะมีการจัดทำรายงานภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ รายงานภาวะเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งบทวิเคราะห์ บทความ ผลการสำรวจความคิดเห็น (Poll) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่องต่อไป

"การทำดัชนี GSI เพื่อใช้ในการวัดผลโครงการรัฐบาล และสามารถนำผลไปปรับปรุง product ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงเศรษฐกิจในกาปรรับเปลี่ยนนโยบาย"

นายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเตรียมตั้งสายงานใหม่ขึ้นมาดูแลลูกค้า Start Up อย่างจริงจัง โดยเน้น SMEs star up เพื่อขับเคลื่อนอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล ที่เน้นเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยต่อยอดพัฒนาไปได้

"เราไม่ได้ focus Fin-Tech หรือ Hi-Tech เพราะเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานช่วยแล้ว แต่จะเน้นธุรกิจฐานรากของประเทศ โดยมุ่งหวังยกระดับรายได้ระดับท้องถิ่น" นายวิทัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ