(เพิ่มเติม1) ธปท. เผยแบงก์พาณิชย์เตรียมออกบัตร ATM-เดบิตเป็นชิปการ์ด เริ่ม 16 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าเปลี่ยนบัตรเดิมเสร็จปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2016 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.59 เป็นต้นไป บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศไทยจะเป็นบัตรแบบชิปการ์ด ขณะที่บัตรเดิมอีก 60 ล้านใบในปัจจุบันที่ยังเป็นแถบแม่เหล็กนั้น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62

"บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบเดิมยังสามารถใช้ได้ แต่ธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับเปลี่ยนจากแถบแม่เหล็กให้เป็นแบบชิปการ์ด คาดว่าภายในสิ้นปี 62 บัตรทั้งหมดจะเป็นแบบชิปการ์ด ซึ่งจะช่วยยกระดับการชำระเงินของไทยให้มีความมั่นคง ปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล"นางทองอุไร กล่าว

การนำมาตรฐานชิปการ์ดมาใช้ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาต่อยอดบริการชำระเงิน โดยช่วยส่งเสริมการใช้ e-Payment ให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ cashless society นับเป็นประโยชน์ที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านการชำระเงินประเทศ และเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบริการชำระเงินของไทย

นางทองอุไร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตร เดบิตเป็นชิปการ์ดได้สำเร็จ โดยเฉพาะสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานชิปการ์ดของไทย (Thai bank chip card standard) เพื่อใช้กับบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกในประเทศ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารต่าง ๆ สามารถใช้งานเครื่องเอทีเอ็มระหว่างกันได้ (interoperability) นอกจากนี้ ภาคธนาคารยังร่วมมือปรับเปลี่ยนระบบงาน และพัฒนาเครื่องเอทีเอ็มและเครื่องรับบัตรให้พร้อมรองรับการใช้งานบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดด้วย

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากแถบแม่เหล็กมาเป็นแบบชิปการ์ดนั้น จะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมไปจากอัตราเดิมที่เรียกเก็บจากแต่ละบัตรอยู่แล้ว โดยจะยังคงใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดิม เพราะต้นทุนของบัตรระบบชิปการ์ดกับแบบแถบแม่เหล็กไม่ได้แตกต่างกันมาก ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว

"ยืนยันว่ายังเก็บค่าธรรมเนียมการทำบัตรในอัตราเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง บัตรเอทีเอ็มก็เก็บเท่าเดิม บัตรเดบิตก็เก็บเท่าเดิม" นายปรีดี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้มีการปรับปรุงตู้เอทีเอ็มให้สามารถรองรับการงานใช้บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตที่เป็นแบบชิปการ์ดได้แล้วประมาณ 80-90% ทั่วประเทศ ซึ่งการใช้บัตรแบบใหม่ในรูปของชิปการ์ดจะมีความปลอดภัยทางด้านข้อมูลสูงกว่าบัตรที่เป็นแถบแม่เหล็ก และสามารถป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูล (Skimming) ได้ดีกว่าด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากมิจฉาชีพเองก็มีการพัฒนารูปแบบการโจรกรรมข้อมูลทางการเงินผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งธนาคารพาณิชย์เองก็จำเป็นต้องตามให้ทัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ