ก.พลังงานหนุนไทยร่วมโครงการ Green Banking เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 22, 2016 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพลังงานได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ด้านเศรษฐกิจ (Economic) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) เพื่อจัดทำเป็นนโยบายพลังงานระดับชาติ ประกอบด้วยแผนหลัก 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2579 แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 – 2579 แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง

การจัดทำแผนพลังงานระยะยาวครั้งนี้ ก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับกระแสโลก อีกทั้งทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการประชุมครั้งสำคัญ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาคือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใจความสำคัญคือการตั้งเป้าหมายที่จะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายว่าประเทศไทยจะร่วมผลักดันในความร่วมมือที่จะส่งเสริมการดำเนินงานให้สามารถบรรลุเป้าหมาย บนหลักการที่สำคัญของกรอบอนุสัญญาฯ เช่น ความรับผิดชอบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต การคำนึงถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศ การพัฒนาที่ยั่นยืนและความเป็นธรรม เป็นต้น จากข้อตกลงที่ได้มีการลงนามในการประชุม COP21 นั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานที่พยายามลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

จากปรากฎการณ์นี้เอง สถาบันพลังงานหมุนเวียน (Renewables Academy AG – RENAC) ของประเทศเยอรมนี ได้เสนอให้มีโครงการใหม่ที่จะส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ในชื่อ Green Banking สำหรับกลุ่มประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานสะอาด และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการจัดอบรมและพัฒนาบุคลากรให้กับบุคลากรในธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อได้รับโอกาสศึกษาความรู้ในเรื่องนี้ สำหรับนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนระบบการกู้-ยืม เพื่อสำหรับพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานให้คล่องตัวขึ้น

โครงการกรีนแบงกิ้ง (Green Banking) รุ่นล่าสุดที่กำลังจะเปิดรับสมัครนั้น จะครอบคลุมระยะเวลาระหว่างปี 2559 – 2561 ซึ่งผู้เข้าร่วมจะได้พบปะกับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธนาคารและผู้ประกอบการด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนี รวมทั้งโอกาสที่จะศึกษาดูงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงานจริง ให้เข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการอนุรักษ์พลังงาน (EE รวมทั้งธุรกิจ ESCO) และพลังงานทดแทน (RE) ขณะเดียวกันยังมีการจัดเตรียมฝึกอบรมทางออนไลน์ อบรมเต็มหลักสูตร เช่น หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสีเขียว (Green Finance Specialist) การเข้าเยี่ยมกลุ่มตัวแทนและการประชุมแบบ B2B (ธุรกิจกับธุรกิจ) เป็นต้น

ผู้ที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องเป็นบุคลากรจากสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน, ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน, สถาบันและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม 2559 หรือสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.renac.de/en/current-projects/green-banking


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ