(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก เม.ย.59 พลิกกลับมาหดตัว -8.0% นำเข้า -14.92% เกินดุลการค้า 721 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2016 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนเม.ย.59 พลิกกลับมาหดตัว 8.0% มาที่ 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้า เม.ย. มีมูลค่า 14,824 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 14.92% ดุลการค้าเม.ย. เกินดุล 721 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปี 59 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก มีมูลค่า 69,374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 1.24% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 60,464 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 12.73% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 8,910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยภาพรวมเดือนเมษายน 2559 มูลค่าส่งออกลดลง -2.8% (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเม.ย. 59 นี้ ข้าวหดตัวถึง –11.5% (YoY) เช่นเดียวกับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-18.5) ทูน่ากระป๋อง (-13.7) น้ำตาลทราย (-15.8) หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออก พบว่าหลายรายการยังมีปริมาณส่งออกที่ดี แต่ด้วยปัจจัยราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว ที่ปริมาณส่งออกสินค้ายังคงขยายตัว (+0.3) แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ (-11.7) ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง ในขณะที่ยางพารา มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวดี 10.5% (YoY) โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึง 23.9% (YoY) แม้ว่าราคาจะยังคงหดตัวต่อเนื่องก็ตาม

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัวอีกครั้งจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ลดลงในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนเม.ย.59 มูลค่าการส่งออกหดตัว -7.8% (YoY) ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ (-9.7) โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกรถปิ๊กอัพ รถบัสและรถบรรทุก ที่หดตัวต่อเนื่อง -54.2% (YoY) ในตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่หดตัวต่อเนื่อง -9.7% (YoY) จากสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (-10.7) เป็นสำคัญ จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น

ในขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 9.3% ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึง -24.8% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือนเม.ย.59 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 39.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง กลับมาหดตัว (-13.9) จากการหดตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างฮ่องกง เยอรมนี และเบลเยียม เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ ก็หดตัวสูง (-16.7) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า

ด้านตลาดส่งออกหลักอย่างตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) หดตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดส่งออกสำคัญอย่างอาเซียนเดิม (5) กลุ่มประเทศ CLMV และจีน การส่งออกหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เดือนเม.ย. 59 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) หดตัวต่อเนื่องที่ -10.3% -6.7% และ -1.1% (YoY) ตามลำดับ จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เช่นเดียวกับตลาดอาเซียนเดิม (5) (-4.7) กลุ่มประเทศ CLMV (-5.0) และจีน (-5.9) ต่างหดตัวจากการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติกไปยังจีนหดตัวสูงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังสิงคโปร์ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ยังคงหดตัวสูงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การส่งออกไป CLMV กรณีหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำพบว่าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.5% (YoY) สะท้อนสถานการณ์การค้ากับกลุ่ม CLMV ยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูงได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มและน้ำตาล เป็นต้น สอดคล้องกับภาพรวมการค้าชายแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง

การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 2558 (มีสัดส่วนคิดเป็น 8.9% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนเม.ย.59 มีมูลค่า 82,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.39% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 336,901 ล้านบาท ขยายตัว 3.00% (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนเม.ย.59 ไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 16,592 ล้านบาท และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) ได้ดุลการค้า 64,477 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนเม.ย.59 มีมูลค่า 12,182 ล้านบาท ขยายตัว 44.74% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่า 48,834 ล้านบาท ขยายตัว 13.16% (YoY) ทำให้ภาพรวมเดือนเม.ย.59 ไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 427 ล้านบาท และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) ได้ดุลการค้า 3,929 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนเมษายน 2559 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 94,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.13% (YoY) และระยะ 4 เดือน (ม.ค. – เม.ย. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 385,735 ล้านบาท ขยายตัว 4.19% (YoY)

"การส่งออกเดือนเม.ย.กลับมาหดตัวตามกระแสการค้าโลกที่ยังมีความเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันหดตัวสูง จึงเป็นแรงกดดันให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับหลายประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้า และเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยภายนอกเชิงลบที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการ เพื่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 59 อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก แก้ไขปัญหาข้อจำกัดทางการค้าร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมการค้าบริการและส่งเสริมผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ