คลัง-ธปท.-แบงก์ หนุนใช้ e-payment แทนเงินสดเริ่ม Q4/59 ก่อนทยอยครอบคลุมในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 26, 2016 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดเว็บไซต์ e-Payment พร้อมแถลงผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ว่า ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ โครงการแรก ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ให้บริการระบบกลางในการชำระเงิน จะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร และจะเริ่มให้ใช้บริการโอนเงินผ่านบัตรประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้

ส่วนโครงการที่ 2 การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ก ระทรวงการคลังและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อให้มีการติดตั้งเครื่องรับบัตรและอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับร้านค้าและหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรได้เพื่อสนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นวงกว้างอย่างแพร่หลายแทนการใช้เงินสด เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มทยอยติดตั้งเครื่อง EDC ได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.59 เป็นต้นไป

โครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเตรียมแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รองรับการพัฒนาระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะพร้อมใช้ได้ในปี 60 โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

โครงการที่ 4 e-Payment ภาครัฐ กรมบัญชีกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม พัฒนาระบบการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการรับจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับจ่ายเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ภายในเดือน ธ.ค.59 และเริ่มโอนเงินสวัสดิการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารได้ในเดือน ก.ย.59

ทั้งนี้ ภายในวันที่ 1 ม.ค.60 ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเรียบร้อยทุกอย่าง ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศจะได้ใช้อย่างครอบคลุม

“เราเชื่อว่าระบบ e-Payment จะเป็นพื้นฐานของประเทศที่จะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพในการชำระเงินมากขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนด้านการเงินได้เป็นหมื่นล้านบาท โดยระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ของระบบดังกล่าว รวมถึงอาจมีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้ทั้งผู้ประกอบการในส่วนของร้านค้ารายย่อย และประชาชนหันมาใช้ระบบ e-Payment มากขึ้น โดยอาจมีการออกรางวัลให้กับผู้ค้าและประชาชนในรูปแบบล็อตเตอรี่ ซึ่งมีการประเมินในเบื้องต้นว่าร้านค้าขนาดกลางและเล็กทั่วประเทศที่เข้าข่าย อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านแห่ง"นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการ e-Payment คือ ค่าธรรมเนียมต้องถูก ซึ่งต้องนี้ยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนี้ได้ โดยสมาคมธนาคารไทยก็เข้าใจเหตุผลในเรื่องดังกล่าว และได้พยายามหาทางทำให้ค่าธรรมเนียมถูกและต่ำที่สุด รัฐบาลมีความต้องการอยากให้ประเทศไทยเหลือการใช้เงินสดน้อยที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับในส่วนหนึ่งด้วยว่าประเทศไทยยังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงอาจยังมีประชาชนบางส่วนที่ต้องการใช้เงินในรูปแบบของเงินสดอยู่

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้เตรียมระบบเพื่อรองรับโครงการ e-Payment โดยเฉพาะในส่วนของใบกำกับภาษี และเสร็จรับเงินนั้นภายในวันที่ 1 ต.ค.59 ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ส่วนดังกล่าวได้ผ่านระบบอีเมลล์ ขณะที่ภายในวันที่ 1 ม.ค.60 กรมจะทำการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบ e-Payment จากการลงทะเบียนในโครงการ Any ID โดยจะไม่มีการคืนภาษีในรูปแบบของเช็คเงินสดอีกต่อไป

“การหักภาษี ณ ที่จ่าย ระบบจะเริ่มรองรับการดำเนินการในส่วนนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป โดยหลัก ๆ จะเริ่มที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อน โดยระหว่างนี้จะให้เวลากับผู้ประกอบการขนาดกลาง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ม.ค.61 และผู้ประกอบการรายย่อยตั้งแต่ 1 ม.ค.62 แต่ในภาพรวมคือระบบนี้จะเดินเครื่องได้เต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 61 แล้ว ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการรั่วไหล ประหยัดเวลาและประหยัดต้นทุนทั้งของส่วนราชการและผู้ประกอบการด้วย นั่นหมายถึงระบบภาษีจะเป็นธรรมมากขึ้น การทุจริตใบกำกับภาษีปลอมจะถูกล้างหายไป ทำให้เกิดความเป็นธรรม"นายประสงค์ กล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ได้มีการกำหนดว่าตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป ประชาชนที่จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเป็นผู้ประกอบการทางการค้า ต้องมีการติดตั้งเครื่อง EDC ด้วย ซึ่งยอมรับว่าอาจจะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีประโยชน์มากกว่า เนื่องจากโครงการ e-Payment จะช่วยลดต้นทุนของประเทศไทย และช่วยยกระดับธรรมาภิบาลของประเทศ ลดการใช้เงินสดสำหรับกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือไม่ถูกกฎหมาย ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเศรษฐกิจไทย และการลงทะเบียนในโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการก้าวเข้าสู่ Digital Economy มากขึ้นด้วย และยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกด้วย

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นธนาคารจะเริ่มดำเนินการวางเครื่อง EDC ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นไป จำนวนหลายแสนเครื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ