"อนุสรณ์"มองศก.ไทย 2 ปีหลังรัฐประหารกระเตื้องแต่ไม่เต็มที่,ต้องเลือกตั้งตามเป้าไม่กระทบศก.-ความเชื่อมั่น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 29, 2016 11:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองเศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมทั้งเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องทำต่อไป คือให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตย โดยเฉพาะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งเดิม จึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

"เนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและยึดถือหลักการประชาธิปไตย หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะไม่มีผลบวกหรือผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่จะต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีเนื้อหาหลายประการไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยฉบับนี้จะนำมาสู่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่"นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่จากประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) การให้อำนาจตุลาการและอำนาจองค์กรอิสระโดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 35 เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นบวกเหมือนเมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์พ.ค.35

ทั้งนี้ คสช. รัฐบาล และ ทุกภาคส่วนในสังคม มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้น เศรษฐกิจปีที่สามของ คสช.จึงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสังคมสงบสันติ

สำหรับภารกิจของคสช.ควรทำในช่วงต่อไปนั้น เห็นว่าต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ,ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย, ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องต่าง ๆ และวางรากฐานและส่งมอบภารกิจเพื่อการปฏิรูปให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป ,เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบราง การบริหารจัดการน้ำ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 6 แสนกว่าล้านบาทให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเข้าถึงประชาชน ,ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีและดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป หลังมองว่ามีโอกาสอ่อนตัวมากกว่าปกติในช่วงปลายปี ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งค่าขึ้นจากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ,ฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรายย่อย โดยควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน

เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนส.ค. หลีกเลี่ยงการกำกับควบคุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ,รื้อฟื้นทบทวนคดีค่าโง่ทั้งหลายที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากจากการทุจริตคอร์รัปชันและสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีมีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ รัฐบาล และ คสช.ควรพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ สัมปทานต่างๆในปัจจุบันและอนาคตไม่เกิดปัญหาค่าโง่ขึ้นมาอีกเช่นที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นโครงการค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่รถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นต้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น รวมถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค เศรษฐกิจโดยภาพรวมดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 57 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและมีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down Bangkok

ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังการรัฐประหาร 49 วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยตลอด ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุนประท้วงบนท้องถนนประมาณ 700 กว่าวันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้น และ ในช่วงเวลา 8 ปีมีรัฐบาลมากถึง 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี 9 คน สะท้อนความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนและทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างมาก โดยอนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้

สำหรับรัฐประหารเมื่อปี 57 ครบรอบ 2 ปีแล้วคงต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่ หรือ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ออกแบบให้รัฐธรรมนูญเกื้อหนุนให้เกิดรัฐบาลเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองมีคุณภาพ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง รัฐบาลที่มีคุณภาพดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าผลงานของ คสช.มีประสิทธิผลอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ สังคมเกิดสันติธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและก้าวพ้นกับดักทศวรรษแห่งความถดถอยและขัดแย้งไปได้

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 57 และ 58 จากภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการบริโภคที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก หากไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาที่มีการคาดหวังเอาไว้ ภาคการลงทุน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการติดลบ 7.3% ในปี 57 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% ในปี 58 โดยเติบโตสูงสุดในไตรมาส 4 ที่ 41.2% และ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 12-13% ในปี 59 ส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ภาคการบริโภคหลัง 2 ปีของการรัฐประหาร โดยคสช.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวติดลบ 6.5% ในปี 57 มาเป็น เติบโตเป็นบวก 20% ในปี 58 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 59 อาจแตะระดับ 33 ล้านคน ขยายตัว 10.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ