(เพิ่มเติม) กพช. อนุมัติแนวทางประมูลบริหารจัดการสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุปี 65-66

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2016 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ว่า ที่ประชุมกพช.อนุมัติแนวทางบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ได้แก่ แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ เป็นแนวทางการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปก่อน ซึ่งผู้รับสัมปทานรายเดิมสามารถเข้าร่วมประมูลได้ และหากไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล ก็จะใช้การเจรจาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานเดิม โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

เนื่องจากต้องการลบข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส แต่ขัอเสียของแนวทางดังกล่าว คือ การหายไปของกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากปัจจุบันจำนวนการผลิตก๊าซของทั้ง 2 แหล่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพราะผู้ประกอบการรายเดิมอาจตัดสินใจชะลอการเจาะหลุมใหม่เพิ่ม เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และหากผู้ประกอบรายใหม่เป็นผู้ประมูลได้ก็ยังไม่สามารถผลิตได้ทันที

ดังนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะต้องหารือกับผู้ประกอบรายเดิมเพื่อรักษาระดับการผลิต โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายจะต้องระบุในร่าง ประกาศเชิญชวนประมูล (TOR) ด้วยว่าผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะต้องรอการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แล้วเสร็จในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าด้วย ขณะที่การประมูลจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

"ที่ประชุมได้หารือกันถึงแนวทางนี้กว่าชั่วโมงครึ่ง และมองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในช่วงนี้ เพราะกระทรวงพลังงาน ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดเจรจากับรายเดิม แต่หากมีเสียงสะท้อนไม่ได้ต้องการให้มีการประมูล เพราะอาจจะกระทบต่อราคาค่าไฟที่สูงขึ้น ประชาชนก็สามารถส่งความเห็นมาได้ โดยที่ประชุม กพช.พร้อมที่จะพิจารณาใหม่"พล.อ.อนันตพร กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในช่วง 7-8 ปีจากนี้ทุกฝ่ายอาจต้องรับความเสี่ยงในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะระหว่างนี้บริษัทที่ได้รับสัมปทานก็จะเริ่มทยอยลดอัตราการผลิตลงตามสัญญาที่ใกล้จะหมดอายุ แต่กระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะบริหารการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

อนึ่ง แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 ประกอบด้วย แปลงสำรวจหมายเลข B10,B11,B12 และ B13 (สัมปทานหมายเลข 1/2515/5 และ 2/2515/6) ซึ่งเป็นของกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีแหล่งเอราวัณ เป็นแหล่งผลิตหลักที่สำคัญ ซึ่งแปลงสำรวจดังกล่าวจะหมดอายุในปี 65 ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข B15, B16 และ B17 (สัมปทานหมายเลข 3/2515/7 และ 5/2515/9) ซึ่งเป็นของกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยมีแหล่งบงกช เป็นแหล่งผลิตหลักที่สำคัญ ซึ่งแปลงสำรวจหมายเลข B15 จะหมดอายุในปี 65 ส่วนแปลงสำรวจหมายเลข B16 และ B17 จะหมดอายุในปี 66

ปัจจุบัน ทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช นับเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตก๊าซฯคิดเป็น 76% ของปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย และคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้ต่อไปอีกประมาณ 10 ปีหากมีการลงทุนต่อเนื่อง แต่หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็จะกระทบต่อปริมาณก๊าซฯที่จะทยอยลดลงต่อเนื่อง และในอีก 7 ปีข้างหน้าก๊าซฯก็จะหายไปราว 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงเข้ามาทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ราว 85 สตางค์/หน่วย ขณะที่ก๊าซฯนับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ


แท็ก บงกช  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ