(เพิ่มเติม) สรท.ขอดูภาวะส่งออก Q2/59 ให้ชัดก่อนปรับเป้า ห่วงศก.โลกทำส่งออกไทยทรุด 4 ปีติด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2016 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่า หากการส่งออกในไตรมาส 2/59 ยังหดตัวที่ -2 ถึง 0% แต่หลังจากนั้นในไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวก ก็จะทำให้ทั้งปีนี้การส่งออกของไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 0-2% ตามคาดการณ์ ดังนั้น จึงยังจะคงเป้าดังกล่าวไว้จนกว่าจะเห็นผลการส่งออกที่ชัดเจนในไตรมาส 2 จึงจะพิจารณาว่าจะทบทวนให้เป็นอย่างไร

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.59 ที่กลับมาติดลบ 8% ถือว่าผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก โดยนับเป็นมูลค่าการส่งออกในเดือนเม.ย.ที่น้อยที่สุดในรอบ 6 ปี และเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นอกจากนั้นหากหักการส่งออกทองคำและอาวุธที่ผิดปกติออกก็จะทำให้การส่งออกในเดือน ก.พ.และ มี.ค.กลายเป็นติดลบ และการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.59) ที่ติดลบ -1.24% จะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -5.36%

"นี่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว มีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้" นายนพพร กล่าว

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.กล่าวว่า สรท.ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 0-2% แต่ในช่วงเวลา 8 เดือนที่เหลือ (พ.ค.-ธ.ค.59) การส่งออกจะต้องมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละ 0.61% หรือมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 18,125 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ยอดส่งออกรวมทั้งปี 59 มีมูลค่า 214,376 ล้านดอลลาร์ จึงจะทำให้การส่งออกทั้งปี 59 ไม่ติดลบ หรืออยู่ที่ 0% หลังจากการส่งออกของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.59) หดตัวอยู่ที่ -5.36%

"เรายังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% เท่าเดิม ซึ่งรัฐคงต้องมีแผนงานและกิจกรรมที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่การสร้างภาพ" นายคงฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่นายนพพร กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่เริ่มดีขึ้นในเดือน มิ.ย.59 และหากปัจจัยลบทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ปัญหาเศรษฐกิจในจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก, สงครามการค้าและค่าเงิน, ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณ์ฑ์, การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป, ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายภูมิภาค, การก่อการร้าย, ปัญหาผู้ลี้ภัย, ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด หากสุดท้ายนานาประเทศไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โลกก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และประเทศไทยจะส่งออกติดลบเป็นปีที่ 4

สำหรับสิ่งที่ สรท.เป็นห่วงมากใน 3 ประเด็น คือ 1.ขณะนี้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ซึ่งมีความสำคัญ 60-70% ของจีดีพี เริ่มได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ถดถอยต่อเนื่องมาหลารยปี หลายรายต้องปิดกิจการหรือปลดคนงาน จึงขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกเหล่านี้เช่นเดียวกับเกษตรกร, ผู้มีรายได้ต่ำ และผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นตามที่หลายฝ่ายเป็นห่วง 2.การเตรียมการ และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าและหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับนานาประเทศ เช่น AEC, RCEP, TPP และ FTA Thai-EU

3.การยกระดับมาตรฐานการบริหารราชการและรัฐวิสาหกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและธุรกิจ และธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ให้ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะเรื่องความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางกาค้า (TFA) ตามแนวทางขององค์การการค้าโลก (WTO) และศูนย์อำนวยความสะดวกทางการค้าและธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์แห่งสหประชาชาชาติ (UN/CEFACT) ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการค้าโลกในอนาคต และจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหา IUU

เช่นเดียวกับกรณีการบังคับใช้ "มาตรการรองรับน้ำหนักตู้สินค้า" ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.59 โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องชั่งและรับรองน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าแล้ว และแจ้งให้สายเรือทราบล่วงหน้า แต่หากผู้ส่งออกมิได้แจ้งน้ำหนักตามข้อกำหนด หรือตัวเลขที่แจ้งคลาดเคลื่อนจากน้ำหนักที่ตรวจสอบ ณ ท่าเรือ สายเรืออาจะปฏิเสธไม่รับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์นั้นขึ้นบนเรือ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุน ขั้นตอน และเวลาในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

สำหรับกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายสร้างผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) นั้น อยากถามว่ากำลังซื้อในขณะนี้อยู่ที่ไหน หากมีแต่ผู้ผลิตไม่มีผู้ซื้อแล้วจะผลิตไปขายให้ใคร ซึ่งในต่างประเทศนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทสร้างกำลังซื้อ

ประธาน สรท. ยังเชื่อว่าที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.59 จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกลับเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้คงพึ่งใครไม่ได้แล้ว โดยทางการสหรัฐฯ รอข่าวดีจากตัวเลขว่างงานลดลง การจ้างงานดีขึ้นมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ