TMA เผย IMD เลื่อนอันดับความสามารถการแข่งขันของไทยปีนี้ดีขึ้น 2 อันดับมาที่ 28 จาก 61 ปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2016 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) และในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เปิดเผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 59 โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 61 ประเทศทั่วโลก

"อันดับความสามารถของประเทศไทยดีขึ้นถึง 2 อันดับมาเป็นอันดับที่ 28 และผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 74.681 เปรียบเทียบกับ 69.786 ในปี 58 และมีอันดับเลื่อนขึ้นจาก 30 ในปี 58 เป็น 28 ในปี 59 ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอันดับดีขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มี อันดับต่ำลง 1- 6 อันดับ"

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่งทำให้ผลการจัดอันดับในด้านนี้อยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอดถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาทุกประเทศต่างตกอยู่ในภาวะลำบากจากเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทยทำให้ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ดีขึ้นถึง 9 อันดับ ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากการที่รัฐได้มีมาตรการปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนแข่งขันได้

ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลก็ได้พยายามเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงต้องใช้ เวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล

ในการจัดอันดับฯ ของ IMD มี การพิจารณา 4 ด้าน คือ สภาวะเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน ( Infrastructure) ปรากฏว่าปัจจัยที่ทำให้ไทยที่มีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 61 ประเทศเท่ากับเมื่อปี 58 ในขณะที่ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐมีอันดับดีขึ้นถึง 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 23 ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานกลับมีอันดับที่ลดลง 1 และ 3 อันดับเป็นอันดับที่ 25 และ 49 ตามลำดับในปี 59

ด้านสภาวะเศรษฐกิจ มีปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นถึง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 37 จากอันดับที่ 46 ในปี 58 การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) อยู่ในอันดับที่ 6 จากอันดับที่ 8 ในปี 58 และการลงทุนระหว่างประเทศ ( International Investment) ที่อยู่ในอันดับที่ 28 จากอันดับที่ 34 ในปี 58 ในขณะที่ด้านการจ้างงาน (Employment) ยังอยู่ในอันดับที่ดี มากคืออันดับที่ 3 เช่นเดียวกับปีก่อน

ส่วนเรื่องที่มี อันดับลดลงคือ ราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 เป็นอันดับที่ 45 เมื่อพิจารณาเป็นประเด็นย่อย จุดเด่นของประเทศไทยยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน การท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไป คือ ด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรที่อยู่ในอันดับที่ 53 และด้านค่าครองชีพ เป็นต้น

ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา ในปีนี้ทุกปัจจัยย่อยมีอันดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Business Legislation ที่ดีขึ้นถึง 7 อันดับจากปี 58 โดยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 44 จากอันดับที่ 51 ในปีก่อนหน้า และด้าน Public Finance ที่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 10 จาก 14 ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ด้าน Fiscal Policy นั้นยังคงได้ อันดับที่สูงกว่าเดิมจากที่เคยสูงอยู่แล้ว โดยขึ้นมาจากอันดับที่ 6 ในปี 58 มาอยู่ในอันดับ 5 ในปี 59 อีกด้วย

"ประมาณครึ่งหนึ่งของประเด็นที่ใช้ในการจัดอันดับในหมวดนี้ มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มี อันดับที่สูงขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐดำเนินการ เช่น มาตรการเกี่ยวกับภาษี สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุน รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนิ นนโยบายได้รับการยอมรับจากผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนประเด็นที่ยังต้องปรับปรุงในหมวดนี้ ได้แก่ ระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ และการกระจายรายได้ เป็นต้น

ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ปัจจัยย่อยทั้งด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ตลาดแรงงาน และ ทัศนคติ และ ค่านิยมมีอันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจัยย่อยด้านการเงินลดลง 2 อันดับเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธี การจัดอันดับของตัวชี้วัดย่อยด้าน M&A ที่ทำให้อันดับในข้อนี้ลดลงถึง 24 อันดับ ทั้งนี้ จุดเด่นของประเทศไทยในด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ได้แก่ สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อประชากร กฎระเบียบเกี่ยวกับสถาบันการเงิน และบทบาทของตลาดทุนในการเป็นแหล่งเงินทุนให้ธุรกิจ โดยประเด็นที่ต้องปรับปรุงคือ ด้านผลิตภาพ (productivity) ที่ยังคงอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ผลการจัดอันดับของไทยในหมวดนี้ยังอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ โดยปัจจัยพื้นฐานเช่น การคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคเป็นปัจจัยย่อยที่มีอันดับค่อนข้างดี ส่วนปัจจัยย่อยอื่นๆ ยังคงมีอันดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ประเด็นที่ไทยอยู่ในอันดับที่ดี ในหมวดนี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ อัตราส่วนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์ ระบบ 3G และ 4G การส่งออกสินค้าไฮเทค และอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานรวม เป็นต้น

นอกจากนั้น ในด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศในด้านอื่น ๆ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและมีอันดับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจเอกชนที่มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 22% จากปีก่อนหน้า ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไป ได้แก่ การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากร การประหยัดพลังงาน การพัฒนาความสามารถด้านภาษาของบุคลากร เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ