พาณิชย์ ยกร่างโรดแมพทรัพย์สินทางปัญญาปูทางสู่ Thailand 4.0 เสนอรัฐบาลก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2016 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำโรดแมป (Roadmap) ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทั้งในส่วนของการสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การบังคับใช้กฎหมาย และการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ โดยคำนึงตั้งแต่ต้นทาง คือผู้ผลิต กลางทาง คือผู้ค้า ไปจนถึงปลายทาง คือผู้บริโภค และมีเป้าหมายสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่ให้ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะนำร่าง Roadmap ทรัพย์สินทางปัญญา เสนอคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติให้ความเห็นชอบภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ Roadmap ในแต่ละช่วงมีการกำหนดเป้าหมาย และแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 20 ปี โดยเฉพาะในช่วงปี 2560 - 2564 มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่ท้าทาย ตลอดจนมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานขับเคลื่อน เพื่อมุ่งไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างแท้จริง โดยสาระสำคัญของร่าง Roadmap ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้

1.การสร้างสรรค์ เช่น การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำ Patent Mapping จัดตั้งศูนย์ SME/IP Support Center เพื่อให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ SMEs/ผู้ประกอบการ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนการสร้างสรรค์ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

2.การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ เช่น การส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีในสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรต่างๆ จัดตั้งศูนย์ IP Valuation และ Valuator Accreditation มีกลไกสนับสนุนการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ จัดตั้งศูนย์ IP Matching และ Pitching Platform เป็นต้น

3.การคุ้มครอง เช่น จัดตั้งหน่วยให้คำแนะนำและอบรมเรื่องการจดทะเบียน และการคุ้มครอง IP พัฒนาระบบ IT ให้ทันสมัย ลดขั้นตอนการจดทะเบียน จัดตั้งหน่วยควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานการจดทะเบียน เป็นต้น

4.การบังคับใช้กฎหมาย เช่น การรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการเคารพสิทธิ์ ส่งเสริมความรู้ด้าน IP แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย บูรณาการระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เป็นต้น

5.ด้านการส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนและสร้างมาตรฐานสินค้า GI ในไทยและต่างประเทศ และประชาสัมพันธ์สินค้า GI ไทยที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก เป็นต้น

6.ด้านการปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม เช่น การจัดทำและบริหารจัดการฐานข้อมูลกลางระดับชาติ และผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เช่น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ให้สามารถคุ้มครองปกป้องภูมิปัญญาทรัพยากรพันธุกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ