"อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม"ทุ่ม 1.5 พันล้านเหรียญฯทำวินด์ฟาร์มในลาว,เดินหน้าเจรจาขายไฟกลับมาไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2016 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐ หุตานุวัตร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) กล่าวว่า บริษัทเตรียมที่จะเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสนอขายไฟฟ้าราว 600 เมกะวัตต์ (MW) จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในลาว ที่บริษัทอยู่ระหว่างกำลังจะพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยล่าสุดได้แหล่งเงินลงทุนจาก IFC และ ADB ขณะที่ด้านเทคโนโลยีเลือกใช้ของเวสทัส (Vestas) ผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำจากเดนมาร์ก

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 1-2 ปีจากนี้ เพื่อจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ เนื่องจากเชื่อว่าด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำจะสามารถเสนอขายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ได้เซ็นสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement:PDA) กับรัฐบาลลาวเมื่อส.ค.58 แล้ว

"เรามองเป็นโอกาสของลมในลาวเหมือนเป็นการเติมน้ำในเขื่อน เวลาเขื่อนไม่มีน้ำ ก็สามารถใช้ไฟจากลมก่อนในการผลิตไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็น...เป้าหมายของเราคือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่เพื่อเป็นทางเลือก และยืนยันว่าเราจะไม่ขอ subsidy ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้"นายณัฐ กล่าว

นายณัฐ กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเทียบเท่าปริมาณพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่ไม่เกิน Capacity Factor (อัตราส่วนร้อยละของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจริงในรอบ 1 ปี เปรียบเทียบกับผลคูณของขนาดกำลังการผลิตติดตั้งและจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งปี) จะอยู่ที่ราว 30% หรือสามาถผลิตไฟฟ้าได้จริงเพียง 200 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ระดับดังกล่าวนับว่าสูงกว่าโครงการพลังงานลมในไทยจะผลิตอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น

โดยโครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ มีพื้นที่พัฒนาโครงการราว 4 แสนไร่ ตั้งอยู่ในแขวงเซกอง และแขวงอัตตะบือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพลมที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาพัฒนาโครงการจากรัฐบาลลาวแล้ว และได้รับหนังสือแจ้งเจตจำนง (Letter of Intent:LOI) จากบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในวงเงิน 1.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ และล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญาเพื่อใช้เทคโนโลยีจาก Vestas ซึ่งเป็นผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำของโลกจากยุโรป ขณะที่การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดำเนินการเรียบร้อยและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลลาว ซึ่งโครงการมีเป้าหมายจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 63 ซึ่งจะนับเป็นโครงการพลังงานลมที่ใหญ่สุดในอาเซียน

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องเจรจากับกฟผ. และรัฐบาลไทยเพื่อเสนอขายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันไทยมีบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MoU) ที่จะซื้อไฟฟ้าจากลาวจำนวน 7,000 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะขยายจำนวนรับซื้อไฟฟ้าเป็น 9,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาลไทยต่อไป เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ โดยยืนยันว่าการขายไฟฟ้าเข้าระบบดังกล่าวจะไม่ได้แย่งส่วนแบ่งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศ เนื่องจากเป็นส่วนแบ่งจากการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถขายกลับมาในไทยบริษัทก็ยังมีทางเลือกขายไฟฟ้าให้ประเทศอื่นในอาเซียนได้ เช่น เวียดนาม เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาโครงการเพียงรายเดียว และในอนาคตรัฐบาลลาวจะเข้ามาถือหุ้น 10% โดยขณะนี้ผู้สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนทั้งจากยุโรป ,ญี่ปุ่น ,จีน รวมถึงพันธมิตรจากไทยด้วย

นายณัฐ กล่าวว่า บริษัทนับเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลายโครงการ โดยนอกเหนือจากการพัฒนาโครงการพลังงานลมในลาวครั้งนี้แล้ว บริษัทยังมีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าแล้ว 14 เมกะวัตต์ในเมืองฮิโรชิมา และมีอีก 3 โครงการในมือ โดยโครงแรกอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 22 เมกะวัตต์ จะเริ่มผลิตไฟฟ้าในเดือนพ.ค.61 ส่วนอีก 2 โครงการกำลงัการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างรอเจรจาเพื่อให้ได้สัญญา PPA นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาการทำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเพื่อส่งขายไปยังโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่นด้วย

ส่วนในประเทศบริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ในจ. สมุทรปราการ และยังมีแผนที่จะเจรจากับกลุ่มโรงงานเพื่อร่วมดำเนินโครงการโซลาร์รูฟใช้ไฟฟ้าภายในโรงงาน โดยวางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตส่วนนี้ราว 15-30 เมกะวัตต์/ปี ซึ่งจากแผนการลงทุนของบริษัทที่ยังมีจำนวนมากทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่บบริษัทจะระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ