TMB คาดประชุม กนง. 22 มิ.ย.59 ยังคงอัตราดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 17, 2016 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและฐานราคาน้ำมันในระดับสูงทยอยหมดไป

ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.5% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้นกว่า 5.4% หลังปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่ออุปทาน นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับ 34 ดอลลาร์ในไตรมาสแรก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ในไตรมาสสองเทียบกับ -0.5% ในไตรมาสก่อน

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากฐานราคาน้ำมันในระดับสูงที่จะทยอยหมดไป ประกอบกับการปรับขึ้นของราคาอาหารสดจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งถึงแม้เป็นปัจจัยในระยะสั้น แต่มีนัยยะเพียงพอที่ทำให้ศูนย์วิเคราะห์ฯปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2559 ขึ้นเป็น 0.5% จากคาดการณ์เดิมที่0.1% โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มขยับขึ้นแตะระดับ 1.3% กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1.0 – 4.0% ส่งผลให้แรงกดดันต่อ กนง. ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อลดลงตามไปด้วย

"โดยรวมแล้วท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สามารถทยอยฟื้นตัวดีขึ้นได้ตามการคาดการณ์ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มกลับกลับเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้งในช่วงปลายปี ศูนย์วิเคราะห์ฯจึงมองว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 22 มิ.ย.นี้"

ขณะที่ภาพรวมของอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่ผ่านมายังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งลงทุน ด้านการบริโภคยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

อย่างไรก็ดี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์และรถไฟรางคู่ ซึ่งอาจอัดฉีดเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทเข้าสู่ระบบในครึ่งปีหลัง จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ