Brexit: "อนุสรณ์"เตือนรัฐบาลไทยเตรียมรับมือวิกฤตทุนนิยมโลกครั้งใหม่หลัง Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง ผลกระทบจาก BREXIT (อังกฤษออกจากอียู) จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยยสำคัญทั้งต่อตลาดการเงิน ภาคเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจจริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลกระทบ BREXIT (อังกฤษออกจากอียู) เงินปอนด์อาจทรุดตัวลงมากกว่า 20-30% หลังปรับตัวอ่อนค่าแล้วกว่า 10% ค่าเงินยูโรน่าจะอ่อนค่าลงไม่ต่ำกว่า 15-20% ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างรุนแรง คาดว่าตลาดหุ้นยุโรปอาจปรับตัวลงโดยเฉลี่ยได้อีกไม่ต่ำกว่า 20-30% หลังจากบางตลาดอย่างตลาดหุ้นเยอรมัน DAX ปรับตัวลงไปแล้วกว่า 10% อังกฤษจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน ส่งออกหดตัวลง สถาบันการเงินย้ายไปอียูมากขึ้น ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของลอนดอนจะเสื่อมลง และนำไปสู่การล่มสลายและแยกประเทศของ Scotland และ Northern Ireland จากสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจอียูก็จะอ่อนแอตัวลงด้วย เสนอให้ธนาคารกลางทั้ง Fed ECB BOJ แทรกแซงตลาดการเงินโลกเพื่อลดความผันผวน ประคับประคองตลาดการเงินและอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ขณะที่กระแสชาตินิยมขวาจัดจะเพิ่มขึ้นในยุโรปแม้นกระแสเสรีนิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยจะยังมีบทบาทอยู่ก็ตาม นอกจากนี้โลกาภิวัตน์ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคนิยมไร้พรมแดนจะถูกท้าทายโดยกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เน้นอธิปไตยทางเศรษฐกิจเหนือความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกันของภูมิภาค

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษลาออกจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองและสิ่งนี้อาจจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอียูในระยะต่อไป ล้วนทั้งกระตุ้นให้ฝ่ายค้านและผู้ไม่สนับสนุนอียูในยุโรปเรียกร้องให้ทำประชามติออกจากอียูเพิ่มเติมอีก เป็นกระแสนี้จะถูกครอบงำโดยเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกอนุรักษ์นิยมชาตินิยมขวาจัดมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและคุณภาพที่ดีขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ และ จะสร้างความยากลำบากในการเจรจาทางการค้าและการลงทุนไปอีกนาน ความคืบหน้าและความก้าวหน้าของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจะถูกชะลอลง

สำหรับราคาทองคำ คาดว่าปรับตัวขึ้นได้อีก 20-30% ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สกุลอาเซียนและเงินบาท แต่การแข็งค่าจะถูกจำกัดในระดับหนึ่งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปอีก แต่กระแสเงินร้อนระยะสั้นจะไหลเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามากขึ้น และไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันจะทรุดตัวลงพร้อมตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง

ด้านข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษ เป็นโอกาสที่ไทยอาจเริ่มต้นเจรจากรอบการค้าและการลงทุนใหม่กับอังกฤษ แม้ไทยส่งออกไปอังกฤษประมาณ 2% แต่ส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-11% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษและอียูจะชะลอตัวลงกว่าเดิม ประเมินมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนานและทำให้เสถียรภาพของระบบอียูมีปัญหา หลายประเทศอาจเกิดการเรียกร้องให้ออกจากอียู แม้ประเทศไทยส่งออกไปประเทศอังกฤษ เพียงแค่ 2% แต่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการส่งออกต่อเนื่องไปยังอียูมากโดยสินค้าส่งออกหลัก คือ ไก่แปรรูป อาหารประเภทต่างๆ อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้าเครื่องหนัง รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น การที่อังกฤษอยู่ภายใต้ระบบของอียูย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุนต่อไทยมากกว่า

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ไทยควรใช้การลงประชามติเรื่อง Brexit ในอังกฤษ เป็นบทเรียนการลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญว่า เราสามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศอย่างสันติวิธีด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมและวิธีการทางประชาธิปไตย ควรเปิดให้มีความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อย่าปิดกั้นแต่ต้องควบคุมไม่ให้มีการปลุกกระแสที่สร้างความเกลียดชังกัน มีการเสนอความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์ ใช้เหตุผลในการหักล้างกัน หากเกิดความรุนแรงขึ้นในกรณีของไทยย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการลงทุน และเมื่อผลออกมาเช่นใดต้องเคารพเสียงข้างมาก

นอกจากนี้ เสนอแนะให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เรียกประชุมฉุกเฉินออกมาตรการลดความผันผวนในตลาดการเงินโดยด่วน ส่วนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงผลกระทบยังไม่มากในระยะสั้นและมีความไม่แน่นอนสูง ระยะต่อไปเตือนรัฐบาลไทยเตรียมรับมือวิกฤตทุนนิยมโลกครั้งใหม่หลัง Brexit ซึ่งจะกระทบการค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และ ความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รุนแรง มอบในแง่ดี ข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจต่างๆจะมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังและฟังเสียงประชาชนมากขึ้น

กระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ของไทยจะไหลออกไปลงทุนในอียูและสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักรและอียูจะทรุดตัวลง ขอให้ผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเงินได้วางยุทธศาสตร์และบริหารจัดการสภาวะดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ