กนอ.เผยทิศทางลงทุนครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง เร่งบูมพื้นที่ภาคตอ.รับนักลงทุนไทย-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2016 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่า แนวโน้มการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมครึ่งปีหลังจะมีเพิ่มมากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยจะส่งผลให้ยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปตามที่ กนอ.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 3,000 ไร่

จากขณะนี้มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 - มี.ค.59) อยู่ที่ 1,750 ไร่ เกินเป้าหมาย 250 ไร่ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในครึ่งปีแรกจะมียอดเช่าและขายพื้นที่ที่ 1,500 ไร่ และคาดว่าทั้งปีจะมียอดขายในพื้นที่นิคมฯ เป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เริ่มสะท้อนให้เห็นทิศทางการลงทุนที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมเชื่อมโยง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรมโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

ผู้ว่าฯ กนอ. กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนดังกล่าว เกิดจากนโยบายของภาครัฐที่กำหนดพื้นที่การลงทุนและมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทั้งในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ระยอง ซึ่งจะเป็นพื้นที่ศักยภาพที่จะรองรับนักลงทุน และเชื่อมโยงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ต้นแบบที่รัฐบาลมุ่งจะพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมซุปเปอร์คลัสเตอร์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากการประกาศ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบในเร็วๆ นี้

"นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นนิคมฯ กนอ.ดูแลเอง และ นิคมฯ ร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน โดยมีพื้นที่รวมพร้อมรองรับนักลงทุนกว่า 30,000 ไร่ ในนิคมฯ 29 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว 21 แห่ง พื้นที่ 15,000 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 6 แห่ง ประมาณ 15,000 ไร่" นายวีรพงศ์ กล่าว

สำหรับความน่าสนใจของพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้พบว่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเข้ามาใช้พื้นที่การลงทุน เห็นได้จากตัวเลขการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในพื้นที่ภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงทุนได้ในปี 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ