สสว.-กรมบังคับคดี-ธพว. จับมือช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ-ปรับโครงสร้าง ลดปัญหาเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2016 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวในงาน "สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ่"ว่า หลังจากที่กฎหมายการฟื้นฟูกิจการมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้มีช่องทางในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัท จำกัด และบริษัท (มหาชน) จำกัด ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SMEs มีโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ และยังสามารถดำนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง

สำหรับกฎหมายฟื้นฟูกิจการนี้ ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีภาระหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคลที่มีภาระหนี้ 3 ล้านบาทขึ้นไป และบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาระหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะได้รับสิทธิจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ หากเจ้าหนี้หลักซึ่งปล่อยกู้สูงสุดสัดส่วน 2 ใน 3 ของมูลหนี้ทั้งหมด ยอมรับแผนฟื้นฟูจากลูกหนี้แล้วเจ้าหนี้อื่น ทั้งเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา เจ้าหนี้การค้า ไม่มีอำนาจฟ้องลูกหนี้รายดังกล่าวได้ รวมทั้งการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มาช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านข้อตกลงทั้งการลดภาระเงินต้น ดอกเบี้ย และจัดทำแผนการผลิต แผนการบริหารใหม่

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกหนี้ SMEs ของธนาคารเข้าข่ายที่จะดึงเข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการประมาณ 5,800 ราย มูลหนี้ประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยลูกหนี้ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาในการค้างชำระ 1-2 เดือน ซึ่งเมื่อมีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการร่วมกับธนาคารแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องร้องในช่วง 3 ปี และเมื่อผู้ประกอบการเข้ายื่นขอสินเชื่อตามโครงการเงินทุนพลิกฟื้นไปแล้ว หลังจากนั้นธนาคารฯ จะพิจารณาปล่อยสินแชื่อเพิ่มเติมภายหลัง โดยคิดดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนที่ 4% วงเงินสินเชื่อประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อราย

อย่างไรก็ดี ตัวแทนผู้ประกอบการ SMEs ยอมรับว่า เกิดปัญหาในการทำธุรกิจในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จนทำให้ลูกค้าเกิดการชะลอการสั่งซื้อสินค้า และขอยืดเวลาการจ่ายเงินค่าสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทจนเกิดเป็นปัญหาสภาพคล่องในที่สุด โดยส่วนนี้เองยังกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้อีกด้วย ถือเป็นปัญหาหนักที่สุดในการประกอบธุรกิจ แต่ก็สามารถผ่านมาได้โดยการเข้าไปหารือกับ SME Bank พร้อมทั้งได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ จนทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงสิ้นปี 2558 มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จดทะเบียนเป็น SMEs ทั้งสิ้น 2.76 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 29,200 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคล 23,100 ราย และเป็นวิสาหกิจชุมชนอีก 6,110 ราย นอกจากนี้ ในส่วนของนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคบริการ 12,500 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคาร เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มการค้า 7,490 ราย และในกลุ่มภาคการผลิต 3,050 ราย ซึ่งเป็นในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ ไปจนถึงธุรกิจผลิตอาหารเป็นส่วนใหญ่

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการแจ้งงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 4.2 แสนราย โดยส่วนใหญ่ 70% มีหนี้สินไม่ถึง 3 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 12% มีหนี้สินอยู่ในช่วง 3-10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี SMEs ที่เข้าข่ายต้องอาศัย พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 ในการแก้ไขปัญหาราว 7,400 ราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 43,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่มียอดหนี้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2.8 ล้านราย ในส่วนนี้ต้องการให้ทั้งกลุ่มนิติบุคคลซึ่งมีการจดทะเบียนการค้า และผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน มายื่นลงทะเบียนกับ สสว.ในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม (Turn Auound) วงเงินทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้ คือ ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 7 ปี ซึ่งในส่วนนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ราว 1 หมื่นราย

โดยปัจจุบันพบว่ามี SMEs มายื่นขอกู้เงินจากโครงการแล้วประมาณ 8,000 ราย ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้จะมีการคัดเลือกและวิเคราะห์ลูกหนี้ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 3,000 ราย สำหรับพิจารณาการปล่อยกู้ต่อไป

"SMEs ที่มีปัญหาเรื่องหนี้ส่วนใหญ่ต้องการเวลา เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ดังนั้น พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการนี้จะเข้ามาช่วยทำให้ลูกหนี้มีเวลาในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ว่าลูกหนี้ต้องการอะไร เพราะไม่ใช่แต่เพียงเวลาเท่านั้นที่เป็นข้อดีของกฎหมาย แต่ยังมีเรื่องการป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้รายอื่นฟ้องล้มละลายลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกับเจ้าหนี้รายแรก และเมื่อศาลมีการรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ก็จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้นั้นสำเร็จไปได้โดยปริยายอย่างแน่นอน รวมทั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเงินทุนพลิกฟื้นฯ จะได้ประโยชน์และโอกาสสูงมากจากโครงการนี้" นางสาลินี กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาส่วนใหญ่ เกิดมาจากปัญหาการมีต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง จนทำให้การดำเนินธุรกิจมีปัญหา ซึ่งโครงการเงินทุนพลิกฟื้นฯ นั้นจะช่วยในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี และอยากให้ SMEs ทุกรายมีกำลังใจในการแก้ไขปัญหา โดยยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการเงินทั้งหมดมีวิธีในการช่วยแก้ปัญหา เพียงแต่อยากให้ผู้ประกอบการเดินหน้าเข้ามาปรึกษา เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ