กกพ.เผยผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าชีวมวลพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 100 โครงการหลังปิดรับวานนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2016 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ (MW) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เพิ่งปิดรับยื่นข้อเสนอไปเมื่อวานนี้ พบว่ามีผู้ประกอบการสนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามากว่า 100 โครงการ และอยู่ระหว่างการรวบรวมจำนวนเมกะวัตต์ที่ยื่นมาทั้งหมด โดยเบื้องต้นพบว่าบางรายยื่นเสนอมา 5 เมกะวัตต์/โครงการ ขณะที่บางรายยื่นข้อเสนอมา 9 เมกะวัตต์/โครงการ แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โครงการ

"เมื่อวานนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ปิดรับข้อเสนอปรากฎว่ามากันเยอะมากทำให้ยอดผู้มายื่นรวมน่าจะ 100 กว่าราย ถ้ารายละ 5 เมกะวัตต์ ก็ 500 เมกะวัตต์แล้ว ขณะที่เราซื้อเพียง 36 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่สูงมาก"แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาทางด้านเทคนิค จะพิจารณาทั้งในส่วนของที่ดิน ,สายส่งรองรับ,เทคโนโลยี ,เชื้อเพลิง ,การสนับสนุนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น ส่วนการพิจารณาเปิดซองราคานั้น จะใช้วิธีการเรียงลำดับราคา โดยเรียงลำดับผู้ยื่นที่เสนออัตราส่วนลดเป็นร้อยละของราคารับซื้อไฟฟ้าในส่วนของอัตรา FiT ในส่วนคงที่ (FiTF) มากที่สุดก่อน และหากในกรณีที่มีผู้ยื่นเสนออัตราส่วนลดเท่ากัน ผู้ที่ยื่นก่อนจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ออกประกาศเรื่องการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (ประเภทชีวมวล) พ.ศ.2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี))

โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 10-31 พ.ค.59 พบว่ามีผู้สนใจมาตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าราว 290 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวมสูงถึง 1,800 เมกะวัตต์ ขณะที่หลังการปิดรับยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าแล้ว กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค วันที่ 22 ก.ค.59 ,เปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา วันที่ 8 ส.ค.59 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก วันที่ 11 ส.ค.59 ขณะที่กฟภ.และผู้ที่ได้รับคัดเลือกลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 9 ธ.ค.59

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT ดังกล่าวมีทั้งหมด 2 ระยะ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.61 หลังจากรับซื้อในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ก็จะเปิดรับซื้อในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป

อนึ่ง เบื้องต้นพบว่ามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งได้แสดงความสนใจเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว ได้แก่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ,บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ,บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง (TPCH) ,บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ,บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ,บมจ.เฟอร์รั่ม (FER) ,บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) ,บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ